“นักปฏิบัติการการเล่น: หนึ่งในแนวคิดหลักสูตรนวัตกรรม
เพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก”
June 22, 2020
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
ผู้อำนวยการ
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
เรื่อง/ภาพถ่าย: ธาม เชื้อสถาปนศิริ
เรียบเรียง: ธีรารัตน์ สองเมือง
ศิลปกรรม: เพลินพิศ แสงเหลา
“นักปฏิบัติการการเล่น: หนึ่งในแนวคิดหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก
|
วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์ดีๆ จากผู้อำนวยการ
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกันค่ะ
“ปริญญาโท” หลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก
Q: ทำไมสถาบันเด็กฯ ม.มหิดล ถึงพัฒนาหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก
A: เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เด็กที่เติบโตมาในยุคปัจจุบันต้องเผชิญอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ อาทิเช่น สภาวะโลกร้อน โรคระบาด เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้จึงเป็นที่มาให้สถาบันเด็กฯ ม.มหิดล พัฒนาหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก ซึ่งหลักสูตรนี้ประกอบด้วยสามคำที่มีความสำคัญ นั่นคือ คำว่า “นวัตกรรม” หมายถึง สิ่งที่คิดค้นขึ้นมาหรือสิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นและให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้นอกจากคำว่านวัตกรรมแล้ว ยังมีอีกสองคำที่สำคัญเช่นกัน นั่นคือคำว่า “การพัฒนา” และ “การคุ้มครอง” หมายถึง การที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพได้ เราต้องมีการพัฒนาเขา ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องเผชิญอยู่กับสิ่งอันตรายรอบด้าน ดังนั้นนอกจากพัฒนาแล้วเราต้องมีการคุ้มครองเขาด้วย เพื่อให้เด็กทุกคนเติบโตขึ้นไปเป็นกำลังที่มั่นคงของชาติ เพราะฉะนั้นเด็กทุกคนต้องได้รับการพัฒนาและการคุ้มครองควบคู่กันไป ถ้าเราไม่พัฒนาควบคู่ไปกับการคุ้มครอง เด็กก็จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตรงตามที่เราอยากให้เขาก้าวไปในโลกอนาคต
Q: หลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็กตอบโจทย์ภารกิจของสถาบันฯ อย่างไร
A: หลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็กตอบโจทย์ภารกิจของสถาบันเด็กฯ ม.มหิดล อยู่ 3 ด้าน ดังนี้ (1) “ด้านการวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรม” เพื่อให้เกิดการพัฒนาและคุ้มครองเด็กให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ให้ได้ตามยุทธศาสตร์ชาติ และให้ได้ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development) (2) “ด้านการศึกษา” สถาบันฯ มุ่งเน้นการเรียนรู้ของเด็กและผู้ใหญ่ โดยสถาบันฯ ได้เน้นในเรื่องของการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อให้เด็กและผู้ใหญ่มีความรู้ในเรื่องของการพัฒนาเด็กและครอบครัวอย่างต่อเนื่องทุกกลุ่มช่วงวัย และ (3) “ด้านการชี้นำสังคมและผลักดันนโยบาย” โดยหลักสูตรนี้จะเป็นฐานของทั้งการสร้างกำลังคน การผลิตเนื้อหา เพื่อนำไปสู่นโยบายของประเทศของต่อไป
Q: หลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก เปิดรับสมัครนักศึกษา บุคคลทั่วไปและผู้สนใจ ในรูปแบบใดบ้าง
A: หลักสูตรนี้เปิดรับสมัครบุคคล 2 กลุ่ม ดังนี้ (1) “นักศึกษาปริญญาโท” สำหรับนักศึกษากลุ่มนี้พวกเขาจะต้องสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีมาก่อนจึงจะสามารถสมัครเข้าเรียนหลักสูตรนี้ได้ โดยสมัครเรียนในรูปแบบปกติผ่านบัณฑิตวิทยาลัย และสำเร็จการศึกษาในรูปแบบของ “ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)” และ (2) “บุคคลทั่วไปและผู้สนใจ” สำหรับนักศึกษากลุ่มนี้ทางสถาบันฯ ได้เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปและผู้สนใจ สามารถเข้าศึกษา เพื่อปรับเพิ่ม พัฒนาความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน (Reskill Upskill Addskill) เป็นการศึกษาที่เปิดกว้างสำหรับผู้ที่สนใจเข้าศึกษา โดยไม่จำกัดอายุ พื้นฐานการศึกษา หรืออาชีพ โดยนักศึกษากลุ่มนี้จะเรียนร่วมกับนักศึกษาปริญญาโท แต่ผู้เรียนกลุ่มนี้จะสำเร็จการศึกษาในรูปแบบของ “ประกาศนียบัตรวิชาชีพ” ทั้งนี้ผู้เรียนกลุ่มนี้ยังสามารถนำรายวิชามาขอโอนหน่วยกิต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลได้ เมื่อพวกเขามีความพร้อมที่จะเรียนต่อในอนาคต การที่ทางสถาบันฯ พัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้นมาก็เพื่อสร้างค่านิยมวิชาชีพใหม่ๆ ในด้านการพัฒนาและการคุ้มครองเด็ก ยกตัวอย่างเช่น นักปฏิบัติการการเล่นหรือผู้นำการเล่น (Playworker) ซึ่งเด็กทุกคนต้องใช้การเล่นเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ เพราะฉะนั้นผู้ดูแลเด็กในชุมชน ผู้ดูแลเด็กในโรงเรียน หรือสถานที่ท่องเที่ยว อาทิเช่น พิพิธภัณฑ์ สวนสนุก และฟาร์มเกษตร ฯลฯ ควรมีผู้นำการสู่การเรียนรู้คอยดูแลเด็กๆ เมื่อพวกเขาไปเที่ยวสวนสนุกพวกเขาอาจจะได้เรียนรู้เรื่องฟิสิกส์ผ่านกระบวนการเล่น หรือไปเที่ยวฟาร์มเกษตร เด็กๆ ก็ได้เรียนรู้เรื่องโลกร้อน พัฒนาพฤติกรรมด้านการสงสัย ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน โดยมีผู้นำการเล่นสู่การเรียนรู้เป็นผู้ดูแล เป็นต้น
Q: ผู้เรียนที่จบหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก สามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง
A: เมื่อนักศึกษาหรือผู้เรียนที่จบหลักสูตรนี้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย เช่น “นักปฏิบัติการการเล่นสู่การเรียนรู้” “นักส่งเสริมครอบครัว” หมายถึงกลุ่มคนที่จะลงไปทำงานกับครอบครัว “นักส่งเสริมสุขภาพและการเรียนรู้เด็กปฐมวัย” กลุ่มอาชีพนี้ไม่ใช่แค่ประกอบอาชีพครูศูนย์เด็กเล็กเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงกลุ่มคนที่ปฏิบัติงานในเนอเซอรี่ ผู้ประกอบการด้านการรับเลี้ยงเด็ก พี่เลี้ยงเด็ก ซึ่งคนกลุ่มนี้สามารถดูแลได้ทั้งสุขภาพตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงปฐมวัย และยังสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้อีกด้วย และ “ผู้จัดการความปลอดภัยและการคุ้มครองเด็ก” หมายถึงกลุ่มคนที่มีความรู้ด้านความปลอดภัยของเด็กหรือมีความเชี่ยวชาญในการสร้างความปลอดภัยให้กับเด็ก ซึ่งความปลอดภัยมีทั้งความปลอดภัยทางกายภาพและความปลอดภัยจากบุคคลหรือสิ่งที่เป็นสิ่งเลวร้ายทั้งหลายที่มากระทำกับเด็ก เช่น สื่อที่ไม่เหมาะสม ซึ่งคนกลุ่มนี้เขาจะเป็นคนที่เข้ามาดูแลด้านความปลอดภัยและการคุ้มครอง เขาจะมีความรู้ทั้งในเรื่องอุบัติเหตุและความปลอดภัย และความรู้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก จากที่กล่าวมาข้างต้นก็คือสายวิชาชีพ 4 สาขาที่ปรากฏอยู่ในจุดเริ่มต้น และในอนาคต สถาบันฯ จะส่งเสริมให้แต่ละรายวิชาสร้างวิชาชีพออกมาให้ได้มากที่สุดเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็กให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
Q: คำว่า “นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก” คืออะไร
A: “นวัตกรรม” คือการสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาหรือสิ่งที่เป็นอยู่รวมทั้งสิ่งที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นวัตกรรมอาจจะออกมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ การฝึกอบรม กระบวนการบริการ นโยบายสาธารณะ หรือในรูปแบบของวัฒนธรรมใหม่ที่มนุษย์ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ สิ่งเหล่านี้คือนวัตกรรมทั้งสิ้น ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งของที่ถูกผลิตออกมาเป็นชิ้นเป็นอันแล้วนำไปจดลิขสิทธ์ได้อย่างเดียว แต่คำว่านวัตกรรม หมายถึง สิ่งทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น คือ สิ่งใหม่ๆ ที่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่รวมทั้งการแก้ไขปัญหาของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปด้วย
Q: หลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็กมีรายวิชาอะไรบ้างที่น่าสนใจ
A: หลักสูตรนี้มีรายวิชาที่น่าสนใจอยู่หลากหลายรายวิชา สำหรับในรายวิชาพื้นฐานจะมีรายวิชา “การพัฒนาและการคุ้มครองเด็กตามการเปลี่ยนแปลงของโลก” “รายวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ระบบประสาทที่สอดคล้องกับการพัฒนาและการคุ้มครองเด็ก” ซึ่งหลายสาขาที่คล้ายคลึงกันรูปแบบการเรียนการสอนค่อนข้างออกไปในเชิงของสังคมศาสตร์อย่างเพียงเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องผสมผสานทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เข้าด้วยด้วยกันเพื่อทำความเข้าใจในด้านของการพัฒนาและการคุ้มครองเด็กบนโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง รายวิชาพื้นฐานรายวิชาที่สาม คือการเข้าใจสังคม ซึ่งหมายถึง “ระบบนิเวศของระบบการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก” และวิชาพื้นฐานสุดท้าย คือเข้าใจรากฐานของคำว่า “นวัตกรรมกับการคิดเชิงออกแบบ” ดังนั้นถ้าเรามีความรู้พื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีผลต่อการพัฒนาและการคุ้มครองเด็ก มีความรู้พื้นฐานในด้านวิทยาศาสตร์ระบบประสาท มีความรู้พื้นฐานทางด้านสังคมศาสตร์เชิงระบบนิเวศต่อการพัฒนาและการคุ้มครองเด็ก และสุดท้ายมีความรู้พื้นฐานความคิดเชิงออกแบบและการสร้างนวัตกรรม ถ้าผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานทั้ง 4 เสาหลักนี้ และเรียนรู้รายวิชาอื่นๆ ในหมวดวิชาเลือกเสรีประกอบด้วย ผู้เรียนก็สามารถเชื่อมต่อไปจบเป็นวิชาชีพได้ หรือไปจบเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตด้านการสร้างนวัตกรรมด้านการพัฒนาและการคุ้มครองเด็ก
Q: ผลลัพธ์ที่คาดหวังของหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก คืออะไร
A: สถาบันฯ หวังว่าจะได้นักศึกษาที่มีความสนใจในด้านการพัฒนาและการคุ้มครองเด็กมาร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มาร่วมกันทำงานกับเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมการพัฒนาและการคุ้มครองเด็กออกสู่สังคม ชี้นำนโยบาย สร้างประโยชน์แก่สังคมไทย และสร้างวิชาชีพใหม่ๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการดูแลเด็กและครอบครัว และทั้งหมดนี้ผู้มีความประสงค์เรียนต่อก็สามารถเรียนได้ในระดับบปริญญาโท และในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ซึ่งเมื่อจบหลักสูตรนี้ไปผู้เรียนก็สามารถปฏิบัติงานวิชาชีพได้ หรือใช้ความรู้นั้นมาร่วมปฏิบัติงานกับทางสถาบันฯ ทั้งนี้สิ่งที่เราเรียกว่าวิทยานิพนธ์ของหลักสูตรนี้จึงไม่ได้มุ่งเป้าที่งานเขียน แต่มุ่งเป้าให้ผู้เรียนได้มาร่วมคิดร่วมลงมือปฏิบัติ และร่วมสร้างสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรมขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ กระบวนการบริการ หลักสูตรฝึกอบรม นโยบาย วัฒนธรรมรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ๆ ที่นำไปสู่การพัฒนาและการคุ้มครองเด็กในอนาคต