Select Page

“การรู้ทางดิจิทัลสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก”

“นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสังคมเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว”

รายวิชาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) :  สาขาวิชานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก

สถาบันเด็กฯ ม.มหิดล


 July 10, 2020

อาจารย์ ดร. นนทสรวง กลีบผึ้ง

อาจารย์

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เรียบเรียง: ธีรารัตน์ สองเมือง

ภาพถ่าย: ธีระชัย แต่เจริญ

ศิลปกรรม: เพลินพิศ แสงเหลา

 

“รายวิชาการรู้ทางดิจิทัลสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก” และ
“รายวิชานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสังคมเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว”
ซึ่งทั้งสองรายวิชานี้จะสอนทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ที่มนุษย์ทุกคนจะต้องรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่ทำงานด้านการพัฒนา ปกป้อง และคุ้มครองเด็ก และเยาวชน

วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์ดีๆ จากอาจารย์ ดร. นนทสรวง กลีบผึ้ง อาจารย์ประจำ

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกันค่ะ

รายวิชาที่น่าสนใจในหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก

เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับท่านที่สนใจและกำลังตัดสินใจเพื่อศึกษาต่อในระดับ “ปริญญาโท”

 

 

Q: อาจารย์สอนรายวิชาอะไรบ้าง ในหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก

A: รายวิชาที่อาจารย์รับผิดชอบหลักๆ มีอยู่ 2 รายวิชา ซึ่งได้แก่ รายวิชาการรู้ทางดิจิทัลสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก และ รายวิชานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสังคมเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว

 

Q: “รายวิชาการรู้ทางดิจิทัลสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก” และ “รายวิชานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสังคมเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว” ทั้ง 2 รายวิชาดังกล่าวเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

A: สำหรับ “รายวิชาการรู้ทางดิจิทัลสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก” จะสอนเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องสื่อกับเด็กในด้านการใช้สื่อ ผลกระทบด้านพฤติกรรมและค่านิยมที่ส่งผลต่อพัฒนาการ เด็กกับความรุนแรงในสื่อ เด็กกับสื่อออนไลน์ เกมและการแข่งขันวิดีโอเกมในเด็ก พฤติกรรมเสพติดสื่อและเทคโนโลยี วิธีการและกระบวนการเรียนรู้ของเด็กจากสื่อ สัญวิทยาในสื่อและวิธีการประกอบสร้างความหมาย วัฒนธรรมสื่อนิยม แนวคิดและทฤษฏีการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศ การส่งเสริมความเป็นพลเมืองรู้เท่าทันสื่อในศตวรรษที่ 21 บทเรียนและประสบการณ์ของคนทำงานด้านการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ การส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในสถานศึกษากับพ่อแม่ และผู้ปฏิบัติงานด้านการปกป้องคุ้มครองเด็ก นโยบายรัฐและต่างประเทศด้านการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในเด็ก บทบาทสังคมในการส่งเสริมสนับสนุนการรู้เท่าทันสื่อ และงานวิจัยในประเทศและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการรู้เท่าทันสื่อ ส่วน “รายวิชานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสังคมเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว” จะสอนเกี่ยวกับแนวคิดของนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ทฤษฎีนวัตกรรมกับพฤติกรรมมนุษย์ วิวัฒนาการเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ผลกระทบทางสังคมต่อเด็กและครอบครัวที่เกิดจากเทคโนโลยี พฤติกรรมและโรคอันเกิดจากเทคโนโลยี บทบาทของพ่อแม่ในการยอมรับเทคโนโลยีมาใช้กับลูก การส่งเสริมทักษะพ่อแม่ในการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยี ความเป็นกลางและอคติของเทคโนโลยี การสร้างสรรค์และผลิตเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเด็กและครอบครัว การบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับพัฒนาการเด็กและครอบครัวสำหรับผู้ประกอบการเด็ก ตระหนักเท่าทันอาชญากรรมและภัยที่เกิดจากเทคโนโลยีที่ใช้กับเด็ก ตลอดจนการพัฒนาแนวคิดเรื่องความมั่นคงและปลอดภัยสำหรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว

 

Q: ทำไมจึงต้องมี “รายวิชาการรู้ทางดิจิทัลสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก” ในหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก

A: ข้อมูลข่าวสารและสื่อส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนทุกรุ่น ทุกเพศ ทุกวัย ข้อมูลสารสนเทศในปัจจุบันสามารถเผยแพร่และกระจายในวงกว้างในระยะเวลาอันรวดเร็ว ด้วยประสิทธิภาพของสื่อดิจิทัล วิชานี้จึง จำเป็นต้องมีอยู่ในหลักสูตรนี้เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การพัฒนาทักษะการเท่าทันสื่อ ข้อมูลสารสนเทศ และเทคโนโลยีจะให้ผู้เรียนตระหนักถึงผลกระทบและความเสี่ยงที่เด็ก ครอบครัวอาจได้รับจากพฤติกรรมเปิดรับข้อมูลข่าวสารและการใช้สื่อในปัจจุบัน รวมถึงช่วยปรับมุมมองและเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของตนเองจากการเป็นผู้รับสารไปสู่ผู้รับสารที่กระตือรือร้น รู้จักเลือกข้อมูลและใช้สื่อและเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม มีแนวทางการส่งเสริมความรู้และความสามารถด้านการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และเทคโนโลยี  จนสามารถปรับบทบาทตนเองให้เป็นผู้ส่งสารหรือผู้สร้างสรรค์สื่อและเทคโนโลยีที่มีคุณธรรมจริยธรรม นำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน

Q: ทำไมจึงต้องมี “รายวิชานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสังคมเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว” ในหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก

 

A: ในอดีตเด็กจะได้มีโอกาสได้วิ่งเล่นนอกบ้าน เล่นกีฬา ใช้จินตนาการผ่านการเล่นและการทำกิจกรรมได้มากกว่าปัจจุบัน ต่างกับปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากและเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต เด็กๆ ทำความรู้จักโลกและสิ่งรอบตัวผ่านจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ เรียนรู้วิชาความรู้ผ่านช่องยูทูป หรือ แอพลิเคชั้นที่เป็น AI  ทำกิจกรรมยามว่างแม้กระทั่งการวาดภาพผ่านโปรแกรมแอพลิเคชั่น  ใช้ชีวิตลำพังและหาความสุขให้ตัวเองผ่านสื่อและเทคโนโลยี ดังนั้นหากรูปแบบการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 จะเปลี่ยนแปลงไปเราก็ควรนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างการเปลี่ยนแปลงและกำหนดวิถีชีวิตให้กับเยาวชนในทิศทางที่เป็นประโยชน์รายวิชานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสังคมเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มีความตั้งใจที่จะให้ผู้เรียนพัฒนาศักยภาพและนำความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการป้องกัน ดูแล และส่งเสริมเด็กและครอบครัว ทั้งด้านการส่งเสริมพัฒนาการ การสื่อสาร การเรียน การทำงาน และการดำรงชีวิต

Q: ทั้ง 2 รายวิชาดังกล่าวข้างต้นมีความน่าสนใจอย่างไร

A: “รายวิชาการรู้ทางดิจิทัลสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก”  และ “รายวิชานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสังคมเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว” มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก  รายวิชาการรู้ทางดิจิทัลสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็กนี้จะช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกคนให้มีความพร้อมกับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องแวดล้อมไปด้วยสื่อดิจิทัล เทคโนโลยี และข้อมูลสารสนเทศ   วิชานี้ยังช่วยสะท้อนสถานการณ์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้สื่อและเทคโนโลยี  ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ประกอบการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็ก กลุ่มคนที่ทำงานด้านการพัฒนา ปกป้อง และคุ้มครองเด็กและเยาวชน หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู สำหรับรายวิชานวัตกรรมเทคโนโลยีและสังคมเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และจิตนาการ ให้ผู้เรียนได้คิดนอกกรอบและประยุกต์ความรู้ของตนเองเพื่อออกแบบนวัตกรรมใหม่ๆ ในการพัฒนา คุ้มครอง และดูแลเด็ก

 

 

Q: อะไรคือความท้าทายของ “รายวิชาการรู้ทางดิจิทัลสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก” และ “รายวิชานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสังคมเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว”  

A: ความท้าทายของทั้ง 2 รายวิชานี้ คือการมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน ซึ่งหลักสูตรนี้ไม่ได้เน้นการให้องค์ความรู้แต่เพียงอย่างเดียว แต่หลักสูตรจะเน้นการพัฒนาแนวคิด กระบวนการ หรือวิธีการในการช่วยพัฒนาและดูแลเด็ก ซึ่งทั้งหมดนี้จึงเป็นความท้าทายในแง่ของการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน รวมทั้งการออกแบบเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนสังคมและชุมชนต่อไป

 

 

Q: ใครคือกลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก

A: หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เชื่อมั่นในศักยภาพในการเรียนรู้ของตนเองและผู้ที่มีใจรักและมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างและพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว สถาบันฯ ยินดีต้อนรับผู้เรียนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ โดยเฉพาะผู้เรียนที่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มผู้ที่ทำงานด้านการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก กลุ่มผู้ที่สนใจทั่วไป เพื่อให้คุณได้พัฒนาศักยภาพของตนเองและร่วมสร้างสิ่งที่ดี สภาพแวดล้อมที่ดี ให้กับสังคม

 

 

หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก

(ภาคปกติและภาคพิเศษ)

งานบริการวิชาการ การศึกษาและเทคโนโลยี โทร. 02-441-0601-10 ต่อ 1510 หรือ 087-266-1054

ผู้สนใจเข้าศึกษาต่อ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://cf.mahidol.ac.th/th/?page_id=6472