Select Page

“นวัตกรรมและการคิดเชิงออกแบบเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก: หนึ่งในวิชาของหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก”

หลักสูตรปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)

สถาบันเด็กฯ ม.มหิดล


 July 3, 2020

  อาจารย์ ดร. ชฎารัตน์ เฮงษฎีกุล

อาจารย์

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เรียบเรียง: ธีรารัตน์ สองเมือง

ภาพถ่าย: ธีระชัย แต่เจริญ

     ศิลปกรรม: เพลินพิศ แสงเหลา

 

“นวัตกรรมและการคิดเชิงออกแบบเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก” เป็นวิชาที่มุ่งเน้นกระบวนการคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลง พัฒนา และแก้ไขปัญหา ซึ่งผลลัพธ์ของกระบวนการจะสามารถนํามาใช้ในการสร้างนวัตกรรม เครื่องมือ หรือวิธีการใหม่เพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก”

วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์ดีๆ จากอาจารย์ ดร. ชฎารัตน์ เฮงษฎีกุล

อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว

มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกันค่ะ

 

Q: ทำไม จึงต้องมีวิชานวัตกรรมและการคิดเชิงออกแบบเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก ในหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก และแนวความคิดของวิชานี้ คืออะไร

A: วิชานวัตกรรมและการคิดเชิงออกแบบเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก เป็นวิชาที่มุ่งเน้นกระบวนการคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลง พัฒนาและแก้ไขปัญหา ซึ่งผลลัพธ์ของกระบวนการจะสามารถนํามาใช้ในการสร้างนวัตกรรม เครื่องมือหรือวิธีการใหม่เพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก โดยที่กรอบแนวคิดของกระบวนการต่างๆจะให้ความสำคัญที่ตัวเด็ก เด็กจะเป็นศูนย์กลางของกระบวนการคิดเชิงออกแบบ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้จะสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเด็ก และช่วยกันหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต การพัฒนาและการคุ้มครองเด็ก

Q: รายวิชานวัตกรรมและการคิดเชิงออกแบบเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก เรียนเกี่ยวกับอะไร

A: เนื้อหาหลักๆ ที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้ภายใต้รายวิชานี้ก็จะมีทั้งหมด 5 ขั้นตอนสำคัญ ของกระบวนการคิดเชิงออกแบบผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ในชั้นเรียนซึ่งมาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพรวมทั้งคณาจารย์ผู้สอน และนอกจากนี้นักศึกษายังได้ลงมือฝึกปฏิบัติจริงเพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งในแต่ละขั้นตอน สำหรับกระบวนการแรก คือ การเข้าใจอย่างลึกซึ้ง การเข้าใจกลุ่มเป้าหมายเป็นพื้นฐานสำคัญในการออกแบบ จากกระบวนการแรกก็จะโยงเข้ามาสู่กระบวนการที่สอง ที่เรียกว่า การกำหนดกรอบปัญหา หากกำหนดได้ชัดเจน และตรงจุด ก็จะนำไปสู่การแก้ไขหรือตอบโจทย์ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง กระบวนการที่สาม คือการกระตุ้นความคิดของคนในทีมเพื่อที่จะพยายามก้าวออกจากการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ และค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ได้ดีมากขึ้น กระบวนการที่สี่ คือการสร้างต้นแบบ ซึ่งจะจำลองความคิด จากนามธรรมให้เป็นรูปธรรม และนำไปสู่กระบวนการที่ห้า คือการทดลองเพื่อจะพิสูจน์ความคิดหรือนวัตกรรมของเราว่าสามารถใช้ได้จริงกับกลุ่มเป้าหมายของเราหรือไม่ และในขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายอีกครั้งหนึ่งเพื่อย้อนกลับไปปรับปรุงสิ่งที่เรายังบกพร่อง ชื่อวิชา คือ  Design Thinking (การคิดเชิงออกแบบ) ฟังดูเหมือนจะมีแต่การคิด แต่จริงๆ แล้ววิชานี้เป็นวิชาที่ต้องลงมือปฏิบัติและเรียนรู้ร่วมกันเพื่อนำไปสู่ชิ้นงานและความสำเร็จได้

 

Q: จุดเด่นของรายวิชานวัตกรรมและการคิดเชิงออกแบบเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก คืออะไร

A: นอกจากนักศึกษาจะได้เรียนรู้กระบวนการการคิดเชิงออกแบบทั้ง 5 ขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว นักศึกษา ยังได้เรียนรู้ในเรื่องของทักษะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการเป็นทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 นี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการวางแผนงาน การสื่อสาร การคิดเชิงวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา การตัดสินใจร่วมกับผู้อื่น และการทำงานร่วมกัน ซึ่งทักษะเหล่านี้นักศึกษาต้องเรียนรู้ด้วยตนเองในทุกกระบวนการแบบต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาตนเองไปด้วยในระหว่างที่เรียนรายวิชานี้

Q: ความท้าทายของรายวิชานวัตกรรมและการคิดเชิงออกแบบเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็กคืออะไร

A: ในกระบวนการคิดเชิงออกแบบ ผู้เรียนจําเป็นที่จะต้องคิดเชิงบวก เป็นนักคิด นักปฏิบัติ นักทดลอง สิ่งที่ท้าทายผู้เรียนคือ นักออกแบบเชิงความคิดจะต้องมุ่งมั่น เชื่อว่าทุกปัญหามีหนทางแก้ไข โดยอาศัยความพยายาม ความตั้งใจ การเรียนรู้และการทําความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้งบนพื้นฐานของการทำงานร่วมกันที่ก่อตัวจากความหลากหลายของทีมงาน

 

หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก

(ภาคปกติและภาคพิเศษ)

งานบริการวิชาการ การศึกษาและเทคโนโลยี โทร. 02-441-0601-10 ต่อ 1510 หรือ 087-266-1054

ผู้สนใจเข้าศึกษาต่อ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://cf.mahidol.ac.th/th/?page_id=6472