“ประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาการเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก”
“การพัฒนาเด็กและการแทรกแซงในมิติเชิงนิเวศ”
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) : สาขาวิชานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก
สถาบันเด็กฯ ม.มหิดล
June 26, 2020
อาจารย์ ดร. กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา
อาจารย์
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียง: ธีรารัตน์ สองเมือง
ภาพถ่าย: ธีระชัย แต่เจริญ
ศิลปกรรม: เพลินพิศ แสงเหลา
“รายวิชาประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาการเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก” และ “รายวิชาการพัฒนาเด็กและการแทรกแซงในมิติเชิงนิเวศ”
|
วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์ดีๆ จากอาจารย์ ดร. กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา
อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกันค่ะ
Q: หลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก เรียนอะไรบ้าง เรียนเพื่ออะไร และน่าสนใจอย่างไร
A: หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากและอย่างที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันเป็นยุคของ Disruptive World ซึ่งเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายและรวดเร็ว เด็กในยุคของ Disruptive World จะสามารถเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้เท่าทันตามโลกที่เปลี่ยนแปลงหรือไม เพราะฉะนั้นการที่นักศึกษาหรือผู้สนใจทั่วไปลงเรียนหลักสูตรนี้จะทำให้นักศึกษาหรือผู้ที่สนใจสามารถที่จะคิดพัฒนานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและการคุ้มครองเด็ก ทั้งนี้รายวิชาที่เปิดสอนก็จะมีความสอดคล้องกับตัวหลักสูตร อาทิเช่น รายวิชาสิทธิเด็กและการคุ้มครองในโลกของการเปลี่ยนแปลง รายวิชาประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาการเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก รายวิชาการพัฒนาเด็กและการแทรกแซงในมิติเชิงนิเวศ และรายวิชานวัตกรรมการคิดเชิงออกแบบเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก เป็นต้น หลังจากจบหลักสูตรนี้นักศึกษาสามารถที่ประกอบอาชีพได้หลากหลาย เช่น นวัตกร นักวิจัย นักออกแบบหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผู้บริหารหรือผู้ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก ฯลฯ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปบูรณาการและประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและคุ้มครองเด็กให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งเด็กจะกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในอนาคตของประเทศต่อไป
Q: หลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก เรียนแบบไหนและอย่างไร
A: หลักสูตรนี้จัดการเรียนการสอนทั้งหมด 2 รูปแบบ คือ เรียนภาคปกติ (เรียนวันจันทร์ – วันศุกร์) และ เรียนภาคพิเศษ (เรียนวันเสาร์ – และวันอาทิตย์) โดยลักษณะวิธีการเรียนสามารถเรียนได้ทั้งในรูปแบบออนไลน์และในห้องเรียน ทั้งนี้หลักสูตรนี้ยังเปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วไปหรือผู้สนใจทั่วไปสามารถลงเรียนในบางรายวิชาที่ตนเองสนใจได้อีกด้วย โดยนักศึกษากลุ่มนี้สามารถเก็บหน่วยกิตสะสมในแต่ละรายวิชาที่ลงเรียนได้ และเมื่อมีความพร้อมนักศึกษากลุ่มนี้สามารถนำหน่วยกิตมาเทียบโอนเรียนต่อในระดับปริญญาโทได้เช่นกัน
Q: อาจารย์สอนรายวิชาอะไรบ้าง
A: รายวิชาที่อาจารย์รับผิดชอบหลัก มี 2 รายวิชา ดังนี้ (1) รายวิชาประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาการเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก และ (2) รายวิชาการพัฒนาเด็กและการแทรกแซงในมิติเชิงนิเวศ ซึ่งทั้ง 2 รายวิชานี้อยู่ในหมวดรายวิชาบังคับของหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก
Q: “รายวิชาประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาการเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก” และ “รายวิชาการพัฒนาเด็กและการแทรกแซงในมิติเชิงนิเวศ” ทั้ง 2 รายวิชานี้มีความน่าสนใจอย่างไร และเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง
A: “รายวิชาประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาการเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก” จะสอนในเรื่องของประสาทวิทยาศาสตร์เชิงบวกสำหรับการพัฒนาแบบองค์รวมของ สมอง จิตใจ ร่างกาย บุคลิกภาพ พฤติกรรม ประสาทวิทยาศาสตร์ของความสุข สติ ความเห็นอกเห็นใจ คุณธรรมจริยธรรม ความเพียรและความยืดหยุ่น ประสาทวิทยาศาสตร์การศึกษาเพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประสาทวิทยาศาสตร์ของความสมดุลย์ระหว่างชีวิตทำงานและชีวิตครอบครัว ความสัมพันธ์ของสมองและดนตรี สถาปัตยกรรมสมองและความเครียดที่เป็นพิษ ผลกระทบตลอดชีวิตที่เกิดจากประสบการณ์วัยเด็กที่ไม่พึงประสงค์ กระบวนการเหนือพันธุกรรม การสร้างสมองที่ยืดหยุ่นและพัฒนาเด็กให้มีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนรูป การสร้างสภาพแวดล้อมและชุมชนที่สนับสนุน ในส่วนของ “รายวิชาการพัฒนาเด็กและการแทรกแซงในมิติเชิงนิเวศ” จะสอนในเรื่องของปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ภูมิทัศน์การดูแลและการศึกษาของเด็ก แนวทางเชิงนิเวศในการประเมินเด็กและครอบครัว การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปกติและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ การจัดการดูแลและการศึกษาเพื่อเด็กทุกคน การจัดการดูแลและการศึกษาแก่เด็กที่มีบาดแผลทางใจ การพัฒนาผู้ดูแลเด็กในครอบครัวและชุมชนตามมาตราฐานจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ซึ่งทั้ง 2 รายวิชานี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากในการที่จะทำให้นักศึกษาสามารถเข้าใจระบบประสาทวิทยาศาสตร์และนิเวศวิทยาที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็กได้
Q: ทำไมจึงต้องมี “รายวิชาประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาการเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก” และ “รายวิชาการพัฒนาเด็กและการแทรกแซงในมิติเชิงนิเวศ” สังกัดอยู่ในหมวดวิชาบังคับของหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็กด้วย
A: เนื่องจากพัฒนาการและการทำงานของสมองในส่วนต่างๆ ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ได้ และมีความเชื่อมโยงต่อพัฒนาการของเด็ก และในทางกลับกันการเรียนรู้ ประสบการณ์ สิ่งแวดล้อมหรือนิเวศวิทยา รอบๆ ตัวเด็กก็ส่งผลกระทบต่อสมองและพัฒนาการเช่นกัน หากเราจะช่วยในการพัฒนาและคุ้มครองอย่างเป็นองค์ครบในทุกมิติ ความรู้ในด้านต่างๆ เหล่านี้จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง
Q: ความท้าทายของ “รายวิชาประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาการเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก” และ “รายวิชาการพัฒนาเด็กและการแทรกแซงในมิติเชิงนิเวศ” คืออะไร
A: เนื่องจากหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และมีรายวิชาที่เป็นลักษณะของวิทยาศาตร์ เช่น รายวิชาประสาทวิทยาศาสตร์ รายวิชานี้ก็จะมีคำศัพท์ต่างๆ หรือองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งใหม่สำหรับนักศึกษาที่จบมาทางสายศิลปศาสตร์หรือสายสังคมศาสตร์ เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
Q: กลุ่มผู้เรียนหลักคือใคร และใครคือกลุ่มผู้เรียนที่หลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็กต้องการ
A: หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับนักศึกษา บุคคลทั่วไป หรือผู้ที่สนใจทั่วไป อาทิเช่น พ่อแม่ คุณครู พยาบาล นักวิชาชีพทางการแพทย์
นักสังคมศาสตร์ หรือบุคคลที่มีความสนใจในด้านการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก ก็สามารถที่จะลงเรียนหลักสูตรนี้ได้ ซึ่งหลักสูตรนี้เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปหรือผู้สนใจสามารถเข้าศึกษา เพื่อปรับเพิ่ม พัฒนาความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน เป็นการศึกษาที่เปิดกว้างสำหรับผู้ที่สนใจเข้าศึกษา โดยไม่จำกัดอายุ พื้นฐานการศึกษา หรืออาชีพ โดยนักศึกษากลุ่มนี้จะเรียนร่วมกับนักศึกษาปริญญาโท แต่ผู้เรียนกลุ่มนี้จะสำเร็จการศึกษาในรูปแบบของ “ประกาศนียบัตรวิชาชีพ”