“การพัฒนาที่ยั่งยืน กฏหมาย และการออกแบบชีวิตเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก:
รายวิชาที่น่าสนใจในหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก”
หลักสูตรปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)
สถาบันเด็กฯ ม.มหิดล
July 13, 2020
อาจารย์ ธาม เชื้อสถาปนศิริ
อาจารย์
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียง: ธีรารัตน์ สองเมือง
ภาพถ่าย: ธีระชัย แต่เจริญ
ศิลปกรรม: เพลินพิศ แสงเหลา
“โลกในศตวรรษที่ 21 มีความก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แนวคิดและทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น เพื่อให้เกิดความสมดุลและมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา หลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็กจึงเกิดขึ้น” |
วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์ดีๆ จากอาจารย์ ธาม เชื้อสถาปนศิริ
อาจารย์ประจำ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกันค่ะ
Q: อาจารย์สอนรายวิชาอะไรบ้าง ในหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก
A: รายวิชาที่อาจารย์รับผิดชอบหลักๆ มีอยู่ 2 รายวิชา ได้แก่ ประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาการเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก และการประเมินทักษะสมอง สติปัญญา การเรียนรู้ เพื่อออกแบบการส่งเสริมเด็กและการวิจัย
Q: อาจารย์สอนรายวิชาอะไรบ้างในหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก
A: ผมรับผิดชอบ 3 รายวิชา ดังนี้ (1) รายวิชาการพัฒนาที่ยั่งยืนและประเด็นทางสังคมเพื่อการพัฒนาเด็ก (2) รายวิชากฏหมายเพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็ก และ (3) รายวิชาการออกแบบชีวิตเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก
Q: รายวิชาการพัฒนาที่ยั่งยืนกับประเด็นทางสังคมเพื่อการพัฒนาเด็ก รายวิชานี้เกี่ยวข้องกับอะไร
A: “รายวิชาการพัฒนาที่ยั่งยืนกับประเด็นทางสังคมเพื่อการพัฒนาเด็ก” จะสอนแนวคิดของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในการพัฒนาเด็ก ปัญหาเด็กในศตวรรษที่ 21 ปัจจัยสภาพแวดล้อมปัญหาของเด็ก ความยากจน การศึกษา วัฒนธรรม การเมือง สาธารณสุขและเทคโนโลยี การพัฒนาและวาทกรรมการพัฒนาเด็กในศตวรรษที่ 21 การปกป้องคุ้มครองเด็กและการเยียวยาเด็กกลับคืนสู่สังคม รูปแบบของเด็กที่ถูกกระทำทอดทิ้งผลักออกจากสังคม กระบวนการเยียวยาเด็ก เด็กในวัฒนธรรมชายขอบ เด็กในกระบวนการยุติธรรม เด็กในความรุนแรงทางการเมืองและสังคม และการออกแบบกระบวนการเยียวยาเด็กกลับคืนสู่สังคมปกติ รายวิชานี้คือการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน เพราะฉะนั้นผู้เรียนจะต้องมีความเข้าใจในการพัฒนานวัตกรรมที่จะใช้คุ้มครองและปกป้องเด็ก เข้าใจความเป็นโลกปัจจุบันว่ามีสภาวะเป็นอย่างไร เข้าใจปรัชญาของการพัฒนาที่ยั่งยืน และสามารถมีความรู้ในเรื่องของการพัฒนาและคุ้มครองเด็กในระดับโลกและระดับประเทศ เพื่อที่ผู้เรียนจะได้มีความรู้และวิสัยทัศน์ในการที่จะศึกษาและวิเคระห์ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและคุ้มครองเด็กให้เหมาะสมต่อไป
Q: กฏหมายเพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็กคืออะไร
A: “รายวิชากฏหมายเพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็ก” จะสอนแนวคิดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก หลักการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กสากล พัฒนาการของกฎหมายปกป้องคุ้มครองเด็ก สิทธิเด็กในโลกสมัยใหม่ (สิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง การเล่น การสื่อสาร) ปัญหาจากกรณีศึกษาต่างๆ สิทธิเด็กในสื่อ สิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรม กฎหมายเด็กกับสื่อออนไลน์ เด็กกับอาชญากรรม กฎหมายเด็กกับคดีความรุนแรงในครอบครัว การพัฒนาประเด็นกฎหมายเด็กในศตวรรษที่ 21 นโยบายและข้อตกลงทางกฎหมายในประเทศอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก คุก สถานพินิจ และบ้านพักเด็กในกระบวนการยุติธรรม ผลกระทบต่อเด็กในกระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนและวิธีการของเด็กในกระบวนการยุติธรรม บทบาทสังคมกับการปกป้องพิทักษ์สิทธิเด็ก และประเด็นขัดแย้งทางกฎหมายระหว่างสิทธิเด็กกับหลักการคุ้มครองเด็ก การเรียนการสอนกฏหมายในรายวิชานี้เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจว่ากฏหมายแต่ละตัวมีสาระสำคัญในการปกป้องคุ้มครองเด็กหรือมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กอย่างไร ปัจจุบันรัฐหรือประเทศมีกลไกลทางด้านกฏหมาย นโยบายสาธารณะอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้เรียนมีวิสัยทัศน์และมีความเข้าใจทางด้านกฏหมายและนโยบายเพื่อการออกแบบนวัตกรรมในการทำงานเพื่อการปกป้องคุ้มครองเด็ก
Q: รายวิชาการออกแบบชีวิตเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก รายวิชานี้ผู้เรียนจะได้เรียนเกี่ยวกับอะไร
A: “รายวิชาการออกแบบชีวิตเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก” รายวิชานี้จะสอนปรัชญาและความหมายของชีวิต แนวคิดการออกแบบชีวิตเด็ก ปัญหาชีวิตของเด็กในโลกปัจจุบัน เศรษฐศาสตร์และต้นทุนชีวิตของเด็กเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก ครอบครัวและสังคมของเด็ก ชีวิตของเด็กในภาวะความผันผวน สมองและภาวะความเจ็บปวดของเด็ก ชีวิตของเด็กในโลกเสมือนจริง กฎหมายและนโยบายสาธารณะเพื่อการออกแบบชีวิตของเด็ก การออกแบบบ้าน โรงเรียน และพื้นที่สาธารณะในการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการออกแบบชีวิตของเด็ก ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาและคุ้มครองชีวิตเด็ก การพัฒนาโครงการการออกแบบชีวิตเพื่อการปกป้องคุ้มครองและพัฒนาเด็ก ตลอดจนการนำเสนอโครงการการใช้นวัตกรรมการออกแบบพัฒนาชีวิตและคุ้มครองเด็ก ดังนั้นในรายวิชานี้ผู้เรียนจะตั้งตัวเองเป็นผู้ที่จะลงไปพัฒนาหรือเป็นนักออกแบบสำหรับการออกแบบชีวิตของเด็ก ทั้งในเรื่องของพัฒนาการทางด้านร่างกาย สมอง สติปัญญา อารมณ์ และทางสังคม วิชานี้จะสอนให้ผู้เรียนมองเห็นความสมดุลของชีวิตในเรื่องของสุขภาพ การเล่น ความสัมพันธ์ และหน้าที่การงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการออกแบบชีวิตเพื่อการพัฒนาเด็ก
Q: ทำไมสถาบันฯ จึงเปิดสอนทั้ง 3 รายวิชาดังกล่าวข้างต้นในหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก
A: นวัตกรรมเพื่อการปกป้องและคุ้มครองเด็กหมายถึงสิ่งประดิษฐ์ กระบวนการบริการ หลักสูตรการเรียนการสอน หลักสูตรการฝึกอบรม ตลอดจนองค์ความรู้ใหม่ๆ ดังนั้นความหมายของนวัตกรรมจึงหมายถึงสิ่งประดิษฐ์หรือองค์ความรู้ที่เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม เพื่อที่ผู้เรียนจะออกแบบนวัตกรรมให้จับต้องได้หรือให้ใช้งานได้ ซึ่งสาระสำคัญของนวัตกรรมคือเมื่อถูกผลิต พัฒนา หรือออกแบบขึ้นมาแล้วจะต้องถูกนำมาใช้โดยกลุ่มเป้าหมาย ให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม สถานการณ์ปัจจุบัน และตามพัฒนาการของชีวิต เพราะฉะนั้นถ้าผู้เรียนไม่มีความเข้าใจเรื่องกฏหมายเพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็ก การพัฒนาที่ยั่งยืน สถานการณ์ปัจจุบันด้านเด็กและเยาวชน พัฒนาการตามช่วงวัยและชีวิตที่สมดุลของเด็ก ผู้เรียนจะไม่สามารถออกแบบนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็กได้ ดังนั้นรายวิชาการพัฒนาที่ยั่งยืนและประเด็นทางสังคมเพื่อการพัฒนาเด็ก รายวิชากฏหมายเพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็ก และ รายวิชาการออกแบบชีวิตเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก ทั้ง 3 รายวิชานี้สังกัดอยู่ในหมวดวิชาเลือกในหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก ถึงแม้ว่าทั้ง 3 รายวิชานี้จะเป็นเพียงแค่วิชาเลือก แต่ก็เป็นวิชาเลือกที่ทำให้นวัตกรรมที่ผู้เรียนกำลังพัฒนาหรืออกแบบถูกมองเห็นคุณค่าและผลประโยชน์มากขึ้น
Q: ความน่าสนใจของทั้ง 3 รายวิชาดังกล่าวข้างต้นมีอะไรบ้าง
A: การพัฒนาที่ยั่งยืนกับประเด็นทางสังคมเพื่อการพัฒนาเด็ก รายวิชานี้จะสอนให้ผู้เรียนมองสังคมและรากฐานของสังคมว่ามีความเป็นมาอย่างไรเพราะประเด็นทางสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การที่ผู้เรียนจะเข้าใจประเด็นทางสังคม และความเคลื่อนไหวทางสังคมในด้านต่างๆ ผู้เรียนจำเป็นที่จะต้องเกาะติดสถานการณ์ทางสังคมในทุกๆ วัน เพื่อที่ผู้เรียนจะได้ไม่กลายเป็นนักพัฒนาที่หลงยุค ส่วนรายวิชากฏหมายเพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็ก รายวิชานี้จะสอนให้ผู้เรียนมีความรอบครอบในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก กฏหมายในรายวิชานี้จะสอนให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในรูปแบบและที่มาของการปกป้องคุ้มครองเด็ก ตลอดจนผู้เรียนจะได้มองเห็นหลักการอันสำคัญที่รัฐประเทศต่างๆ ใช้ในการปกป้องและคุ้มครองเด็ก และสุดท้ายรายวิชาการออกแบบชีวิตเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก ความน่าสนใจของวิชานี้คือ รายวิชานี้ดูไม่ค่อยเป็นวิทยาศาสตร์มากนัก ขณะเดียวกันก็ดูไม่ค่อยไปในทางทางสังคมศาสตร์เช่นกัน แต่รายวิชานี้คือรายวิชาที่บูรณาการเอาองค์ความรู้สหวิทยาการทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ พัฒนาการมนุษย์ ความคิดสร้างสรรค์มาผสมผสานให้ผู้เรียนสามารถที่จะสังเคราะห์ความรู้ตลอดหลักสูตรมาใช้ในการออกแบบชีวิตเพื่อการพัฒนา ปกป้อง และคุ้มครองเด็ก
Q: ความท้าทายของทั้ง 3 รายวิชาดังกล่าวข้างต้นมีอะไรบ้าง
A: ความท้าทายของทั้ง 3 รายวิชาภายใต้หลักสูตรนี้คือ การบูรณการศาสตร์ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันภายใต้การพัฒนา ปกป้อง และคุ้มครองเด็ก เพราะฉะนั้นความเข้าใจแรกที่ท้าทายสำหรับผู้เรียนก็คือ ความเข้าใจที่เป็น Fix Mindset ว่านวัตกรรมก็คงต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นรูปธรรม แต่จริงๆ นวัตกรรมอาจจะเป็นนามธรรม หรือเครื่องมือทางสังคม เช่น ตัวบทกฏหมาย แนวทางนโยบายการศึกษา แนวทางการพัฒนาการจัดอบรม กระบวนการบริหารจัดการ ดังนั้นความท้าทายของหลักสูตรนี้คือผู้เรียนจะต้องทลาย Fix Mindset ของตนเอง ก่อนว่านวัตกรรมไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียว แต่นวัตกรรมอาจหมายถึงวิธีการจัดการความรู้และการพัฒนาแนวทางทางด้านสังคมในการแก้ไขปัญหาเด็กที่ยั่งยืนต่อไป
Q: ใครคือกลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก
A: กลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรนี้เปิดกว้างสำหรับผู้สนใจทุกคน ซึ่งหลักสูตรนี้ไม่ได้จำกัดว่าผู้เรียนจะต้องจบวิทยาศาสตรบัณฑิตมาในระดับปริญญาตรี แล้วต้องมาเรียนต่อวิทยาศาตรมหาบัณฑิต แต่ในทางกลับกันหลักสูตรนี้บูรณาการวิทยาศาตร์และสังคมศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อรองรับผู้เรียนที่มีความรู้ทั้งทางด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้หลักสูตรยังเปิดกว้างสำหรับกลุ่มคนที่มีความสนใจและทำงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้อาจจะไม่ได้จบการศึกษามาในระดับปริญญาตรี แต่ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนเรียนในรายวิชาที่ตนเองสนใจได้ และจบออกมาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ ดังนั้นผู้เรียนที่เหมาะสมสำหรับหลักสูตรนี้คือผู้เรียนที่ตั้งใจจะเอาความรู้นี้ไปใช้ในการพัฒนา ทำงานด้านการปกป้อง และคุ้มครองเด็ก เพื่อพัฒนาให้เด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีสํกยภาพ และเป็นกำลังที่สำคัญของประเทศต่อไป