Select Page

วันที่ 1 เมษายน 2567 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกันจัดเวทีแถลงความสำเร็จและผลลัพธ์ของโครงการการพัฒนาและประสิทธิผลของโปรแกรมส่งเสริมทักษะการยับยั้งชั่งใจที่ส่งผลต่อ การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย จังหวัดนครปฐม ในปัจจุบันการพัฒนาอย่างรวดเร็วของความเจริญและการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล ทำให้ความสะดวกสบายเข้ามาแทนที จนเด็กขาดการลงมือทำ ขาดความอดทน พยายาม นำไปสู่สถานการณ์คุณธรรมจริยธรรมที่ค่อนข้างถอดถอย อย่างเห็นได้ชัด จากการสำรวจของศูนย์คุณธรรม ในปี 2566 พบว่า เด็กและเยาวชนมีคุณธรรมจริยธรรมที่น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะด้านความซื่อสัตย์

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวเปิดเวทีแถลงข่าว “ทักษะ inhibit คิดก่อนทำ เติมพลังฮึบ! สร้างคุณนะทำดี” โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมการแลงข่าว โดยกล่าวถึงความสำคัญในการสร้างทักษะความคิด เพื่อพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมในตัวเด็ก ให้รู้จักการควบคุมตนเองและแสดงออกอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นพลเมืองที่ดี มีความสามารถในการควบคุมตนเอง การอยู่ร่วมกัน และการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ในอนาคต และร่วมกันสร้างสังคมที่มาการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ณ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และผ่านระบบออนไลน์

 

นางสาวกนกพร ดอนเจดีย์ นักปฏิบัติการวิจัย และหัวหน้าโครงการ การพัฒนาและประสิทธิผลของโปรแกรมส่งเสริมทักษะการยับยั้งชั่งใจที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า โปรแกรมส่งเสริมทักษะการยับยั้งชั่งใจที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ถูกออกแบบมาแบบบูรณาการระหว่างศาสตร์จิตวิทยาและสมอง โดยนำตัวแปรสาเหตุที่ค้นพบในการวิจัยระยะที่ 1 ที่เป็นปัจจัยภายใน ได้แก่ 1.ทักษะการยับยั้งชั่งใจ 2.การรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-efficacy) 3. การตั้งเป้าหมาย นำมาสร้างเป็นกิจกรรมฝึกเด็กในชั้นเรียน โดยเริ่มต้นด้วยการให้เด็กรู้จักการตั้งเป้าหมายเพื่อทำความดี เมื่อเด็กตั้งเป้าหมายได้สำเร็จทำให้เด็กเกิดการรับรู้ความสามารถของตนเอง จนนำไปสู่การเห็นคุณค่าในตนเอง ส่งผลต่อความมุมานะพยายาม นอกจากนี้การจำเป้าหมายได้ยังช่วยให้เด็กได้คิดก่อนทำ นึกถึงเป้าหมายว่าสิ่งใดควรทำ หรือไม่ควรทำ ถือเป็นการฝึกทักษะการยับยั้งชั่งใจในสถานการณ์จริง ในขณะเดียวกันการฝึกทักษะการยับยั้งชั่งใจผ่านการ์ดเกม ก็เป็นการฝึกทักษะการยับยั้งชั่งใจ ด้านการหยุดตอบสนอง (Response Inhibitory control) ของเด็กภายใต้สถานการณ์สมมุติ ตลอดระยะเวลา 8 สัปดาห์ที่ลงโปรแกรม สัปดาห์ละ 2 วัน ทำให้ทักษะการยับยั้งชั่งใจแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น จนเด็กสามารถต้านทานกับสิ่งเร้าที่ดึงดูดใจได้สำเร็จ ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มทดลอง มีคะแนนเฉลี่ยคุณธรรม จริยธรรมภาพรวม และรายด้าน ในระยะหลังการทดลอง และระยะติดตามผลหลังการทดลอง 3 สัปดาห์ สูงกว่า กลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 หลังเข้าร่วมโปรแกรมฯ นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยคุณธรรมจริยธรรม ภาพรวม สูงกว่า ก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (เพิ่มขึ้น 12.258 คะแนน) ในขณะที่กลุ่มควบคุม หลังปล่อยให้เป็นไปตามวิถีปกตินักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยคุณธรรมจริยธรรม ภาพรวม สูงกว่า ก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (เพิ่มขึ้น 4.124 คะแนน) ซึ่งจะเห็นว่ากลุ่มที่ได้รับโปรแกรมมีคะแนนคุณธรรมจริยธรรมภาพรวมสูงกว่า กลุ่มควบคุม ประมาณ 3 เท่า และด้านที่น่าสนใจ คือ ด้านความพอเพียง ก่อนการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนด้านความพอเพียงน้อยกว่า กลุ่มควบคุม แต่หลังจากเข้าร่วมโปรแกรม พบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยคุณธรรมจริยธรรมด้านความพอเพียง เพิ่มขึ้น 10.088 คะแนน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ในขณะที่กลุ่มควบคุม คะแนนเฉลี่ยคุณธรรมจริยธรรมด้านความพอเพียงก่อนและหลังไม่แตกต่างกัน

ดังนั้น การขับเคลื่อนขยายผลโครงการวิจัยนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือ ของหน่วยงานหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในการนำโปรแกรมการเสริมสร้างทักษะการยับยั้งชั่งใจที่ได้จากการวิจัย ไปเป็นแนวทางในการขยายผลเสริมสร้างทักษะสมองด้านการยับยั้งชั่งใจให้กับเด็กวัยเรียน ทดแทนการขาดโอกาสการสร้างและพัฒนาสมองในช่วงปฐมวัย นอกจากนี้ยัง สามารถพัฒนาต่อยอดให้กับกระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบรรจุการเรียนการสอนเพื่อ พัฒนาทักษะการยับยั้งชั่งใจของเด็กในโรงเรียนลงไปในวิชาชุมนุม หรือชั่วโมงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลาเล่น โดยการนํารูปแบบของโปรแกรมไปปรับใช้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องใช้ของที่มีราคาแพง เพียงแต่นำเอาแนวคิดหลักการจากโปรแกรมครั้งนี้ไปปรับใช้ ซึ่งการพัฒนาทักษะการยับยั้งชั่งใจนั้นถือว่าเป็น แก้ปัญหาที่ตนเหตุ ของปัญหาทางสังคมต่าง ๆ

 

221 views