Select Page

จบเสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับการจัดเสวนา เรื่อง “การเยียวยาเด็กที่ได้ผลกระทบจากความรุนแรง” (7 ตุลาคม 2563) ณ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชัน “ZOOM”

 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความรุนแรงที่มีต่อเด็กอาจจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ (1) แบบภาวะยากลำบาก คือ ผู้เลี้ยงดูอาจจะไม่ได้จงใจกระทำความรุนแรงต่อเด็กโดยตรงแต่ผู้เลี้ยงดูอาจจะขาดศักยภาพและทำให้เด็กต้องไปอยู่และได้รับประสบการณ์เลวร้ายเหล่านั้น และ (2) แบบผู้เลี้ยงดูกระทำไม่เหมาะสม อาจจะเป็นการละเลยทางอารมณ์ การคุกคามทางอารมณ์ การละเลยทางร่างกาย การกระทำทางร่างกาย และการกระทำทางเพศ ซึ่งทั้ง 2 แบบมีความเหมือนกันคือส่งผลต่อภาวะความเครียดของเด็กและมีผลต่อตัวเด็กในระยะยาว เช่น มีพัฒนาการล่าช้า พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง มีความก้าวร้าว มีพฤติกรรมที่แย่ลงในวัยรุ่น และยังไปสัมพันธ์กับกลุ่มโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคทางเส้นเลือดสมอง ความดันสูง เบาหวาน และนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ดังนั้น การที่เด็กโดนทุบตี ทอดทิ้ง ละเลย หรือดูแลไม่เหมาะสม จะมีผลกระทบในระยะยาวต่อตัวเด็กเสมอและกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ศักยภาพต่ำ

 

ทั้งนี้ โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กควรเป็นแหล่งพื้นฟูเด็กที่ถูกกระทำที่โดยส่วนใหญ่จะถูกกระทำมาจากครอบครัว โดยการวินิฉัย ค้นหาเด็กเหล่านี้เพื่อช่วยเหลือ คุ้มครอง และเยียวยา โดยใช้กลไกการเรียนซึ่งใช้เด็กที่ไม่ได้ถูกกระทำความรุนแรงมาเยียวยาเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงโดยครอบครัว รศ.นพ. อดิศักดิ์ กล่าว

ในขณะที่ ผศ.พญ.แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการคลินิกและศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนเป็นกุมารแพทย์ด้านการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า เด็กที่ได้รับความรุนแรงจะมีผลต่อระบบร่างกายทั้งหมด ทั้งในเรื่องของสมอง การบาดเจ็บทางร่างกาย และจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งจะส่งผลต่อฮอร์โมนความเครียดและฮอร์โมนความเครียดนี้จะส่งผลต่อระบบหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่จะอ่อนแอลง ระบบของเซลล์สมองที่จะมีการเชื่อมต่อกันน้อยลง ทั้งนี้เมื่อเด็กได้รับความรุนแรงสิ่งเหล่านี้จะเข้าไปสู่ความทรงจำของเด็ก เมื่อเด็กนึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เขาได้รับ เขาจะผวาและเกิดความกลัว ซึ่งความกลัวเหล่านั้นมันจะกลับมากระตุ้นระบบฮอร์โมนในร่างกาย ความเครียดต่างๆ จะหลั่งออกมาอีกครั้ง เพราะฉะนั้นวงจรเหล่านี้ที่มีความต่อเนื่องและได้รับมาอย่างยาวนานก็จะส่งผลต่อพฤติกรรม การเรียนรู้ และสมาธิของเด็ก

อย่างไรก็ตามพ่อแม่ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรม อารมณ์ และพูดคุยกับลูกในทุกๆวัน คอยให้ความรักความอบอุ่นเพราะสิ่งเหล่านี้ที่จะช่วยเยียวยาบาดแผลหรือความเจ็บปวดทางใจของเด็กได้ ทั้งนี้สำหรับตัวคุณครูทางโรงเรียนก็ต้องสำรวจและประเมินความพร้อมของคุณครูก่อนที่จะรับเข้ามาปฏิบัตหน้าที่ในการดูแลเด็ก เพื่อความปลอดภัยต่อตัวเด็กเอง