Select Page

“พัฒนาการมนุษย์สำคัญกับคนทุกคน:

เพราะเราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่ต้องอยู่กับมนุษย์ด้วยกัน”

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.):  สาขาวิชาพัฒนาการมนุษย์

สถาบันเด็กฯ ม.มหิดล

 


August 26, 2020

ผศ.ดร. วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์

อาจารย์

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

“พัฒนาการมนุษย์สำคัญกับคนทุกคน: เพราะเราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่ต้องอยู่กับมนุษย์ด้วยกัน” กล่าวคือ การศึกษาพัฒนาการมนุษย์ก็เพื่ออธิบายพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในช่วงวัยต่างๆ เพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นและอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข

 

วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร. วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์

อาจารย์ประจำ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว

มหาวิทยาลัยมหิดล

ปริญญาโท หลักสูตรพัฒนาการมนุษย์ มาฝากกันค่ะ

 

Q: อาจารย์สอนรายวิชาอะไรบ้างในหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์

A: รายวิชาที่อาจารย์รับผิดชอบก็จะมีรายวิชาพัฒนาการมนุษย์ (Human Development) วิทยาระเบียบวิธีวิจัยทางพัฒนาการมนุษย์ (Research Methodology in Human Development) การให้คำปรึกษา (Counseling) ครอบครัวศึกษา (Family Study) และ การประยุกต์คอมพิวเตอร์ในทางสถิติ (Computer Application to Statistics)

 

Q: เนื้อหาในแต่ละรายวิชาเป็นอย่างไรและเรียนเกี่ยวกับอะไร

A: เนื้อหาในแต่ละรายวิชามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เริ่มจากรายวิชา “การประยุกต์คอมพิวเตอร์ในทางสถิติ (Computer Application to Statistics)” คือเราสอนนักศึกษาในระดับปริญญาโทเพราะฉะนั้นเรื่องของสถิติสำหรับการทำวิจัยจึงเป็นเรื่องที่นักศึกษาต้องเรียนรู้อยู่แล้ว ซึ่งรายวิชานี้จะอธิบายถึงการเลือกค่าสถิติในการวิจัยที่เหมาะสม การทดสอบสมมติฐานทางการวิจัย การวิเคราะห์ตัวแปรเชิงเดี่ยว เชิงคู่ และเชิงพหุ ตลอดจนการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ รายวิชาถัดมาคือ “วิทยาระเบียบวิธีวิจัยทางพัฒนาการมนุษย์ (Research Methodology in Human Development)” รายวิชานี้คือพื้นฐานของการทำวิจัยทั้งหมด จะอธิบายถึงระเบียบวิธีวิจัย คำถามการวิจัย การทบทวนวรรณกรรม กรอบแนวคิดในการวิจัย สมมติฐานการวิจัย ตัวอย่างและการกำหนดกลุ่มตัวอย่าง ตัวแปรและระดับการวัด การรวบรวมและจัดทำข้อมูล การวิจัยเชิงทดลอง การวิจัยเชิงคุณภาพ การเขียนโครงการวิจัยและรายงานวิจัย จริยธรรมในการวิจัย รายวิชาที่สาม “พัฒนาการมนุษย์ (Human Development)” ซึ่งเป็นวิชาฐานของพัฒนาการมนุษย์ที่ทุกคนต้องเรียน รายวิชานี้เป็นวิชาที่สอนให้นักศึกษาทำความเข้าใจของโครงสร้างของการพัฒนาการมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสิ้นอายุไข จะอธิบายถึงการ  บูรณาการความรู้ทางด้านชีวภาพ จิตวิทยา และสังคมเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ในช่วงวัยต่างๆ พฤติกรรมการเรียนรู้ การพัฒนาสติปัญญา อารมณ์ บุคลิกภาพ จิตสำนึก และคุณธรรม ตามกรอบของทฤษฎีพัฒนาการมนุษย์ ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต ตั้งแต่พันธุกรรม และปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม อิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดูในครอบครัว กลุ่มเพื่อน การศึกษา อาชีพ ชุมชนและสังคม แนวโน้มของปัญหาอุปสรรค และปัจจัยเกื้อหนุนต่อพัฒนาการของมนุษย์ ในปัจจุบันและอนาคต รายวิชาที่สี่ การให้คำปรึกษา (Counseling)” รายวิชานี้จะสอนเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฏีในการให้คำปรึกษา การให้คำปรึกษารายบุคคลและกลุ่มสำหรับทุกช่วงวัย การให้คำปรึกษากับพ่อ แม่ ผู้ปกครองในประเด็นปัญหาพฤติกรรม การให้คำปรึกษาปัญหาเด็กและครอบครัว จริยธรรมการให้คำปรึกษา ความรุนแรงในครอบครัว สุขภาพกาย ใจ สังคม กรณีศึกษา และการปฏิบัติการการให้คำปรึกษา และรายวิชาสุดท้าย “ครอบครัวศึกษา (Family Study)” รายวิชานี้จะอธิบายถึงแนวคิดเกี่ยวกับครอบครัว พัฒนาการและรูปแบบของครอบครัว ระบบวงจรชีวิตครอบครัว ความรู้เกี่ยวกับครอบครัวในด้านโครงสร้างและการทำงานครอบครัว ลักษณะครอบครัวที่ปกติและครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือ สถานการณ์ครอบครัวไทยในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพกายและจิต ความรุนแรงในครอบครัว ชุมชนกับการดูแลครอบครัว และแนวทางการส่งเสริมและป้องกันปัญหาครอบครัว ซึ่งครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของชีวิตมนุษย์เพราะหมายถึงการศึกษาความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกันในครอบครัวแต่ละยูนิต

 

Q: ความสำคัญของแต่ละรายวิชาคืออะไร 

A: ความสำคัญของแต่ละรายวิชาคือการรวมกันของศาสตร์ต่างๆ แบบสหวิทยาการ ซึ่งในแต่ละศาสตร์ก็จะมีเนื้อหาหรือเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะในชีวิตจริงแล้วมนุษย์คนหนึ่งไม่สามารถแยกเป็นส่วนๆ ได้ว่าอันนี้เป็นเรื่องของสมองเท่านั้น เพราะฉะนั้นมนุษย์หนึ่งคนมันคือการรวมภาพใหญ่เข้าด้วยกัน ฉะนั้นแล้วแต่ละรายวิชาที่อาจารย์รับผิดชอบจะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการเดินไปของมนุษย์คนหนึ่ง เช่น รายวิชาครอบครัวศึกษา รายวิชานี้จะสอนให้นักศึกษารู้และเข้าใจความรุนแรงในครอบครัวว่าเป็นอย่างไร การส่งต่อความรุนแรงในครอบครัวเป็นอย่างไร อันนี้คือแค่หนึ่งเรื่อง ถ้าเราไม่รู้เรื่องนี้เราอาจจะกระทำรุนแรงกับลูก ตีลูกโดยบอกว่าฉันกำลังสอนลูกอยู่ แต่จริงๆ แล้วการสอนกับการกระทำความรุนแรงบางทีมันใกล้กันนิดเดียวมันมีเส้นแบ่งว่าสอนอย่างไรเรียกว่าสอน อย่างไรเรียกว่าการกระทำความรุนแรงโดยการโยนอารมณ์ตัวเองเข้าไปหาลูก ฉะนั้นถ้ามันมีทฤษฎีบอกเล่ากันว่าอันนี้ทำได้ อันนี้ทำไม่ได้ องค์ความรู้นี้จะทำให้พ่อแม่เลี้ยงลูกโดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งมันมีผลต่อตัวเด็กในระยะยาว เราพบว่าความรุนแรงนั้นหากกระทำวันนี้ พ่อแม่กระทำความรุนแรงกับลูกในวันนี้ ลูกก็จะมีแนวโน้มที่จะส่งต่อความรุนแรงนี้ไปอีกเป็นรุ่นต่อรุ่นไปเรื่อยๆ เป็นต้น เพราะฉะนั้นเนื้อหาของแต่ละรายวิชานี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่จะประกอบให้นักศึกษาที่จบไปเป็นนักพัฒนาการมนุษย์ที่สมบูรณ์

 

Q: แต่ละรายวิชานี้น่าสนใจอย่างไร

A: อาจารย์ผู้สอนมีความหลงใหลในเนื้อหาและการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชา อย่างเช่นวิชาการให้คำปรึกษาเป็นวิชาที่สนุกมากและเป็นวิชาที่อยากให้ทุกคนได้มาสัมผัสเอง ซึ่งการให้คำปรึกษา จริงๆ แล้วการนั่งกันอยู่ของมนุษย์สองคนนั้นมันมีรายละเอียดมาก ไม่ได้เป็นเพียงแค่การพูดคุยธรรมดาแต่หมายรวมถึงการตีความภาษากายของกันและกัน การจับลักษณะท่าทาง การวางมือ หรือการสบตา ซึ่งมันมีรายละเอียดในการมองเห็นหมดเลยว่าเขาคนนั้นคิดอะไรอยู่และคำตอบนั้นเป็นอย่างไร มันเป็นการทำความเข้าใจมนุษย์จากทุกส่วนของตัวตน ส่วนอีกรายวิชาคือครอบครัวศึกษา อยากบอกว่าในต่างประเทศวิชานี้ศึกษาอย่างลึกซึ้งมากและมีโมเดลมีเรื่องสนุกๆ หลายเรื่องมากๆ แค่การเอาสิ่งที่เขาค้นพบหรือการตามงานวิจัยใหม่ๆ แล้วเอามาถ่ายทอดให้นักศึกษาฟังก็สนุกมากแล้ว แต่ที่สำคัญที่สุดคือเบื้องหลังความสนุกคือนักศึกษาได้คิด วิเคราะห์ และเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยการวิเคราะห์ด้วยตนเอง

 

Q: ความท้าทายของแต่ละรายวิชาคืออะไร

A: รายวิชาที่อาจารย์รับผิดชอบจะพยายามผลักดันไปในทิศทางที่ให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติมากขึ้น ทั้งการคิด วิเคราะห์ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวบางอย่างออกมาเป็นการทำความเข้าใจซึ่งความท้าทายคือการนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปประยุกต์ใช้จริง

 

Q: รูปแบบการเรียนการสอนเป็นอย่างไร

A: โลกมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมากและเรากำลังเข้าสู่ยุคที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริงแต่การที่จะปฏิบัติจริงทั้งหมดอาจจะยังเป็นไปไม่ได้เพราะมันจะมีเนื้อหาบางส่วน กรอบความเข้าใจบางอย่างที่จะทำให้นักศึกษาจะต้องเข้าใจในเชิงของทฤษฎี ดังนั้นในแต่ละรายวิชารูปแบบการเรียนการสอนก็จะเป็นการผสมผสานกันระหว่างเรียนทฤษฎีกับการลงมือปฏิบัติ

 

Q: เมื่อเรียนจบหลักสูตรนี้แล้วสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง

A: เมื่อเรียนจบหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์แล้วผู้เรียนสามารถเข้าไปทำงานได้ในทุกหน่วยของสังคม เช่น กรมกิจการเด็ก กรมคุมประพฤติ โรงพยาบาล สังคมสงเคราะห์ เป็นต้น หรือผู้เรียนอาจจะไปทำงานอยู่ในภาคเอกชนเช่น เปิดโรงเรียนเป็นของตนเอง เป็นคุณครู เป็นนักวิจัย ซึ่งคนเหล่านี้จะมีองค์ความรู้ที่เป็นแบบสหวิทยาการรู้ในศาสตร์ที่เป็นทั้งเรื่องของวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และพฤติกรรมศาสตร์ เช่น เรื่องของสมอง การพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ การวิวัฒนาการของมนุษย์ การให้คำปรึกษา มีความสามารถในเชิงการสร้างสัมพันธภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้คือเขามีทักษะของการบริหารซึ่งจริงๆ แล้วชีวิตคนๆ หนึ่งตั้งแต่เช้าจนถึงเข้านอนก็วุ่นวายอยู่กับคำว่าการบริหาร เราบริหารเวลา สัมพันธภาพ เงินทอง เรื่องต่างที่อยู่กับผู้คน กลุ่มคนที่จบพัฒนาการมนุษย์จะมีทักษะแบบนี้

 

Q: ใครควรมาเรียนหลักสูตรนี้บ้าง

A: จริงๆ ก็คือคนทุกคน ไม่ว่าเราจะเป็นใครอย่างไรเราก็ต้องเกี่ยวข้องกับมนุษย์ เราต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงานซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายถ้าเราไม่เข้าใจเขาตั้งแต่วันนี้ เราก็อาจจะมีโอกาสที่จะไปเครียดในที่ทำงาน ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน หอบความเครียดนั้นกลับบ้านแล้วไปลงกับลูกหรือคนในบ้าน เพราะฉะนั้นพัฒนาการมนุษย์สำคัญกับคนทุกคนเพราะเราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่ต้องอยู่กับมนุษย์ด้วยกัน

 

หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต

สาขาวิชาพัฒนาการมนุษย์ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)

งานบริการวิชาการ การศึกษาและเทคโนโลยี โทร. 02-441-0601-10 ต่อ 1509

ผู้สนใจเข้าศึกษาต่อ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.grad.mahidol.ac.th