“พัฒนามนุษย์ ด้วยพัฒนาการมนุษย์”
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) : สาขาวิชาพัฒนาการมนุษย์
สถาบันเด็กฯ ม.มหิดล
August 24, 2020
ผศ.ดร. กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
“พัฒนามนุษย์ด้วยพัฒนาการมนุษย์ ซึ่งในทุกๆ ช่วงวัยมีการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการเสมอและหากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เกิดความบกพร่องหรือเกิดการขัดขวางพัฒนาการบางอย่างนักพัฒนาการมนุษย์ก็สามารถที่จะช่วยแก้ไขหรือให้คำแนะนำต่างๆ ในการที่จะส่งเสริมพัฒนาการเหล่านั้นให้พัฒนาไปในทิศทางที่ปกติได้” |
วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร. กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกันค่ะ
Q: ทำไมสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวจึงเปิดสอนหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์
A: หลักสูตรพัมนาการมนุษย์เป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทางสถาบันฯ เปิดรับสมัครนักศึกษารุ่งแรกตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบันก็ประมาณ 22 ปี โดยที่เป้าหมายของหลักสูตรนี้คือทางสถาบันฯ ต้องการผลิตมหาบัณฑิตมีองค์ความรู้ที่รอบด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์ ซึ่งคำว่าพัฒนามนุษย์ หมายถึงการพัฒนาในทุกๆ ช่วงวัย เริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา วัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ ซึ่งในทุกๆ ช่วงวัยมีการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการเสมอ และหากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เกิดความบกพร่องหรือเกิดการขัดขวางพัฒนาการบางอย่างนักพัฒนาการมนุษย์ก็จะสามารถที่จะช่วยแก้ไข หรือ ให้คำแนะนำต่างๆ ในการที่จะส่งเสริมพัฒนาการเหล่านั้นให้พัฒนาไปในทิศทางที่ปกติได้
Q: ปรัชญาและความสำคัญของหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์คืออะไร
A: หลักสูตรพัฒนาการมนุษย์มุ่งเน้นผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้เชิงสหวิทยาการด้านการพัฒนามนุษย์โดยสามารถบูรณาการศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ และสังคมศาสตร์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนา จัดการ ป้องกัน แก้ไขปัญหาด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และชุมชน อย่างมีคุณธรรม จริยธรรม จิตสำนึกสาธารณะ และรับผิดชอบต่อสังคม
Q: รูปแบบของหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์เป็นอย่างไร
A: หลักสูตรพัฒนาการมนุษย์เป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนาการมนุษย์ โดยรูปแบบการเรียนการสอนจะประกอบไปด้วยภาคปกติและภาคพิเศษ สำหรับการเรียนการสอนของภาคปกติจะจัดในวันจันทร์-วันศุกร์ โดยการเรียนการสอนภาคปกติจะเหมาะสำหรับกลุ่มผู้เรียนที่ไม่ได้ทำงานประจำ และสำหรับการเรียนการสอนภาคพิเศษจะจัดในวันเสาร์และวันอาทิตย์ กลุ่มนี้จะเหมาะสมกับผู้เรียนที่ทำงานประจำ อย่างไรก็ตามทั้งภาคปกติและภาคพิเศษจะเปิดการเรียนการสอนพร้อมกันซึ่งนักศึกษาสามารถเลือกได้ว่าตนเองนั้นเหมาะกับรูปแบบการเรียนแบบใด
Q: รูปการเรียนการสอนของหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์เป็นอย่างไร
A: รูปแบบการเรียนการสอนของหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์มีทั้งรูปแบบการเรียนในชั้นเรียนและในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งรูปแบบการเรียนในชั้นเรียนจะมีทั้งในส่วนที่เป็นการฝึกปฏิบัติ การส่งเสริมพัฒนาการ โดยนักศึกษาจะได้ทดลองจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ เพราะฉะนั้นรายวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ เช่น รายวิชาฝึกงาน รายวิชาโปรแกรมเพื่อการส่งเสริมพัฒนาการจะเป็นลักษณะที่นักศึกษาต้องลงมือกระทำดังนั้นการเรียนการสอนก็จะจัดขึ้นที่สถาบันฯ
Q: ใครคือผู้เรียนของหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์
A: จริงๆ หลักสูตรนี้เปิดกว้างสำหรับผู้สนใจทั่วไปที่ต้องการเข้าใจในแนวคิดเรื่องพัฒนาการมนุษย์ที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้สูงอายุ แต่จริงๆ แล้วหลักสูตรถูกออกแบบขึ้นมาให้มีความพิเศษคือในกลุ่มวิชาที่ทางสถาบันฯ จัดทั้งวิชาหลักและวิชาเลือกเมื่อผู้เรียนเข้ามาเรียนแล้วผู้เรียนจะสามารถมองเห็นแนวทางการเลือกวิชาซึ่งนำไปสู่เส้นทางต่อยอดในวิชาชีพต่างๆ ซึ่งมี 3 เส้นทาง ดังนี้ เส้นทางแรกคือกลุ่มคนทำงานสายด้านการแพทย์ การพยาบาล สาธารณสุข เช่น นักวิชาชีพ นักกิจกรรมบำบัด ฯลฯ กลุ่มที่สองคือกลุ่มคนทำงานด้านการศึกษาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์โดยใช้ทฤษฎีพัฒนาการเป็นฐานในการศึกษา เช่น ครู กลุ่มนักกิจกรรมในโรงเรียน กลุ่มนักส่งเสริมการเล่น ส่งเสริมพัฒนาการในโรงเรียน ฯลฯ และกลุ่มที่สามคือกลุ่มผู้ประกอบการและผู้บริหารที่จะเอาแนวคิดด้านการพัฒนามนุษย์ไปส่งเสริม สร้าง ปรับปรุง หรือต่อยอดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในโรงเรียนของตนเอง เป็นต้น
Q: หลักสูตรพัฒนาการมนุษย์มีรายวิชาที่น่าสนใจอะไรบ้าง
A: รายวิชาที่น่าสนใจของหลักสูตรนี้ก็จะมีรายวิชาพัฒนาการมนุษย์ รายวิชาการวัดและการประเมินพัฒนาการมนุษย์ตลอดช่วงวัย รายวิชาการอบรมเลี้ยงดูเชิงบวก และรายวิชาโปรแกรมการส่งเสริมพัฒนาการมนุษย์ ฯลฯ
Q: พัฒนาการมนุษย์เรียนจบแล้วผู้เรียนสามารถไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง
A: ลักษณะของอาชีพหลังจากที่จบหลักสูตรนี้แล้ว ผู้เรียนสามารถประกอบอาชีพใน 3 กลุ่มหลักๆ ดังนี้ กลุ่มแรกคือกลุ่มวิชาชีพทางด้านการแพทย์ การพยาบาล สาธารณสุข ซึ่งจะไปเป็นนักพัฒนาการมนุษย์ที่มีองค์ความรู้ที่เป็นองค์รวมที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการมนุษย์หรือจะไปประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานทางด้านการแพทย์ กลุ่มที่สองคือกลุ่มนักวิชาการหรือสายการศึกษา กลุ่มนี้สามารถเป็นนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการมนุษย์ และกลุ่มที่สามคือกลุ่มผู้ประกอบการและผู้บริหารที่ดูและศูนย์เด็กปฐมวัย ดูแลสถานศึกษา ซึ่งมีแนวคิดอยากจะส่งเสริมพัฒนาการหรือเอาแนวคิดความรู้ที่ได้ไปสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการขยายผลในการสร้างโปรแกรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่เหมาะสมมากขึ้น
Q: หลักสูตรพัฒนาการมนุษย์ปรับปรุงใหม่มีอะไรบ้าง
A: หลักสูตรพัฒนาการมนุษย์ทางสถาบันฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงตัวรายวิชา ซึ่งก่อนหน้านี้เราจะมีการแยกสาขา เช่น หลักสูตรพัฒนาการมนุษย์ สาขาพัฒนาการเด็ก สาขาพัฒนาการวัยรุ่น และสาขาพัฒนาการผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แต่ในหลักสูตรใหม่จะไม่มีการแยกสาขาในรายวิชาการบังคับ ซึ่งผู้เรียนจะได้เรียนเกี่ยวกับพัฒนาการในทุกๆ ช่วงวัย เรียนการประเมินในทุกๆ ช่วงวัย และหลังจากนั้นในรายวิชาเลือกจะมีการแยกเส้นทางโดยที่เส้นทางแรกจะเป็นกลุ่มของนักวิชาชีพหรือบุคลากรทางด้านสาธารณะสุข เส้นทางที่สองจะเป็นกลุ่มของการศึกษาหรือนักวิจัย และกลุ่มที่สามจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการและผู้บริหาร
Q: ความท้าทายของนักศึกษาในหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์คืออะไร
A: หลักสูตรพัฒนาการมนุษย์เป็นหลักสูตรวิทยศาสตร์มหาบัณฑิตเพราะฉะนั้น ณ จุดเริ่มต้นทางสถาบันฯ รับนักศึกษาจากหลากหลายสาขา เพราะฉะนั้นในกลุ่มที่จบมาทางสายสังคมศาสตร์ สายมนุษยศาสตร์ ก็อาจะรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์จะยากไหม แต่ด้วยตัวหลักสูตรเรามุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนามนุษย์และมนุษย์ทุกคนสามารถที่จะพัฒนาได้เพราะฉะนั้นหลักสูตรนี้จึงเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่อยากจะได้องค์ความรู้เรื่องพัฒนาการมนุษย์ไปปรับใช้ทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
Q: ความกังวลใจของนักศึกษาก่อนเข้าเรียนหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์มีอะไรบ้าง
A: ประเด็นแรกคือหลักสูตรเป็นวิทยาศาตรมหาบัณฑิตเพราะฉะนั้นรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น รายวิชาพัฒนาการมนุษย์ รายวิชาประสาทวิทยาศาสตร์และพฤติกรรม ซึ่งรายวิชาประสาทวิทยาศาสตร์ก็จะเรียนในเรื่องของพัฒนาการทางสมอง หน้าที่ของสมองในส่วนต่างๆ เพราะฉะนั้นคำศัพท์ต่างๆ จะเป็นศัพท์เทคนิค ประเด็นที่สองคือเรื่องของคะแนนภาษาอังกฤษ เนื่องจากกฏของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล คือนักศึกษาจะต้องมีคะแนนภาษาอังกฤษก่อนสมัครเข้ามาเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา แต่อย่างไรก็ตามกรณีที่เรายังไม่มีคะแนนหรือคะแนนสอบยังไม่ถึงเกณฑ์ที่บัณฑิตวิทยาลัยกำหนดระหว่างนั้นผู้เรียนสามารถไปสอบและเอาคะแนนมายื่นได้หรือเรียนเก็บหน่วยกิตก็จะเทียบเท่าคะแนนสอบภาษาอังกฤษ ประเด็นที่สามคือเรื่องรายวิชาของการฝึกงานซึ่งหลังจากที่เราเรียนคอร์สเวิร์กเสร็จแล้วก่อนที่จะทำวิทยานิพนธ์ ผู้เรียนจะต้องออกไปฝึกงานในสถานที่ต่างๆ อาทิเช่น โรงพยาบาล คลินิกต่างๆ โรงเรียน หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์ได้ ตรงนี้อาจจะเป็นความกังวลใจสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยทำงานมาก่อน หรือผู้เรียนที่เลือกเรียนวิชาเลือกทางด้านสายการแพทย์และผู้เรียนไม่ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องในสถานประกอบการชนิดนั้นก็อาจจะสร้างความกังวลใจได้ แต่อย่างไรก็ตามทางทีมอาจารย์ผู้สอนก็จะเป็นผู้ช่วยเหลือในการติดต่อสถานที่ฝึกงานสำหรับนักศึกษาทุกๆ คน ประเด็นสุดท้ายคือความกังวลใจในเรื่องของการทำวิทยานิพนธ์สำหรับนักศึกษาบางกลุ่ม แต่อย่างไรก็ตามทางหลักสูตรมีสายทำหรับการทำวิทยานิพนธ์ที่หลากหลาย เช่น ผู้เรียนที่จบมาทางด้านสายการศึกษาก็สามารถที่จะเลือกทำวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษาในด้านของพัฒนาการมนุษย์ ถ้าจบมาทางด้านสายการแพทย์หลักสูตรก็จะมีทีมอาจารย์ที่จบมาทางด้านสายนี้และสามารถที่จะทำวิทยานิพนธ์สายวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการมนุษย์ได้ หรือจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการหรือผู้บริหารก็สามารถทำวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อใช้ในการพัฒนามนุษย์ได้