Select Page

 

เปิดให้บริการแล้วแก่คุณแม่และลูกน้อย “ห้องนมแม่ Breastfeeding Room” ณ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวว่า นมแม่นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาเด็ก โดยอ้างอิงจากงานวิจัยทั่วโลกที่อธิบายว่าน้ำนมแม่มีผลต่อพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ การเจริญเติบโต และที่สำคัญมีผลต่อการสร้างอารมณ์ ความผูกพันธ์ของแม่กับลูกตั้งแต่แรกเกิด ด้วยความสำคัญนี้ทุกประเทศทั่วโลกจึงตกลงร่วมกันและมีนโยบายขั้นต่ำที่ชัดเจนว่าทุกประเทศต้องส่งเสริมการให้นมแม่อย่างเดียวต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน (Exclusive Breastfeeding) ประเทศที่ผลักดันนโยบายนี้จนประสบความสำเร็จคือกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกและแถบสแกนดิเนเวีย กลุ่มประเทศเหล่านี้สนับสนุนการให้นมแม่ต่อเนื่องตลอด 6 เดือน มากกว่าร้อยละ 90 ในทางกลับกันกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นให้นมแม่ต่อเนื่องตลอด 6 เดือน น้อยกว่าร้อยละ 20 เมื่อศึกษาอย่างลึกซึ้งพบว่าความรู้ทางวิชาการทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก แต่ในทางปฏิบัติโครงสร้างของหน่วยงานหรือองค์กรไม่ได้ให้การสนับสนุนมากนักและสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดคือวิถีชีวิตของการทำงานของตัวแม่เอง เช่น การทำงานภาคโรงงานอุตสาหกรรม การค้า หรือภาคเกษตรกรรมที่ทำให้การให้นมแม่ต่อเนื่องตลอด 6 เดือนแรกไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งโครงการห้องนมแม่ในที่ทำงาน มุ่งแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น

“สังคมมีความเป็นเมืองมากขึ้น การประกอบอาชีพ วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไป และหากครอบครัวไม่ได้สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อเนื่องตลอด 6 เดือนแรก นโยบายนี้ก็จะล้มเหลวมากขึ้น เด็กที่เติบโตมาจากการไม่ได้รับนมแม่ก็จะขาดความสัมพันธ์ที่ดีของแม่กับลูกตั้งแต่แรกเกิดอย่างยิ่งใน 2 ขวบแรก อันนี้ก็จะส่งผลในระยะยาว ดังนั้นทางสถาบันฯ จึงได้จัดห้องนมแม่เพื่อต้องการสร้างให้เป็นตัวอย่างว่าทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ โรงงาน กระทรวง ทบวง กรม หรือสำนักงาน ซึ่งคุณมีบุคลากรอยู่ในมือคุณต้องมีห้องนมแม่เพื่อให้บุคลากรของคุณสามารถที่จะมีโอกาสเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเพิ่มสายใยสัมพันธ์แม่ลูกอันนี้ถือว่าเป็นหัวใจที่สำคัญ”

ด้าน คุณอรพินท์ เลิศวัสดาตระกูล หัวหน้าคณะทำงานโครงการมุมนมแม่ในที่ทำงาน บอกว่า “นมแม่นั้นมีประโยชน์ต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างสายใยสัมพันธ์แม่ลูก ซึ่งส่งผลระยะยาวถึงตอนโต ซึ่งในขณะที่ลูกดูดนมจากเต้า ร่างกายแม่จะหลั่งฮอร์โมน “ออกซิโทซิน” หรือ “ฮอร์โมนแห่งความรัก” ที่ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย

นอกจากนี้ คุณอาภาพร แจ่มใจ (ครูไหม) ครูพี่เลี้ยงที่เพิ่งกลายเป็นคุณแม่มือใหม่ กล่าวว่า การที่สถาบันฯ มีห้องนมแม่นั้นดีต่อบุคลากรมาก

 

“ห้องนมแม่ Breastfeeding Room” ทางสถาบันฯ ตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่างว่าทุกองค์กรไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ควรสนับสนุนให้บุคลากรที่เป็นคุณแม่มีโอกาสที่จะมาให้นมหรือเตรียมนมให้ลูกน้อยได้ นอกจากนี้ทางสถาบันฯ ยังได้เปิดโอกาสให้บุคลากรที่เป็นคุณแม่ของส่วนงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เข้าอบรม สามารถที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ได้เพื่อมาเตรียมนมให้กับลูก รวมทั้งใช้เป็นพื้นที่ดูงานเพื่อกลับไปเป็นผู้ตระหนักในเรื่องการสนับสนุนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้วไปผลักดันเป็นนโยบายของหน่วยงานตนเอง ตลอดจนเพื่อการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-Being) ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป (SDGs)

เปิดให้บริการแล้ว “ห้องนมแม่”

ขั้นตอนการใช้ห้องนมแม่