Select Page

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาการมนุษย์

สถาบันเด็กฯ ม.มหิดล (ภาคปกติและภาคพิเศษ)


March 30, 2020

ผศ.ดร. สาวิตรี ทยานศิลป์

 

 

การศึกษาพัฒนาการมนุษย์ก็เพื่ออธิบายพฤติกรรมต่างๆ ของบุคคลในช่วงวัยต่างๆ โดยทำความเข้าใจและศึกษาถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของบุคคล ดังนั้นการศึกษาพัฒนาการมนุษย์จึงนับว่ามีความสำคัญยิ่ง ซึ่งนอกจากจะทำให้เข้าใจว่ามนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัยอย่างไรบ้างแล้ว ยังสามารถนำความรู้เรื่องพัฒนาการมนุษย์ไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับคนในครอบครัวในแต่ละวัยได้อีกด้วย

 

เรื่อง: ธาม เชื้อสถาปนศิริ
ภาพ: ธาม เชื้อสถาปนศิริ
เรียบเรียง: ธีรารัตน์ สองเมือง
บันทึกเสียง: นฤชิต ตันประยูร

ปัจจุบันปัญหาเรื่องพัฒนาการมนุษย์มีอะไรบ้าง

 

ผศ.ดร. สาวิตรี ทยานศิลป์ – อาจารย์หนึ่ง อธิบายว่า ในปัจจุบันเราพูดถึงเรื่องของการพัฒนามนุษย์ เรามองว่าการพัฒนามนุษย์ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ ถ้าเราพัฒนามนุษย์ได้อย่างตรงจุดและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศของเราก็จะมีการพัฒนาไปด้วย ในการนี้การที่เราจะพัฒนาคนได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ เราก็ต้องอาศัยองค์ความรู้อะไรบางอย่าง ซึ่งองค์ความรู้หนึ่งก็คือเรื่องของการพัฒนามนุษย์ด้วยพัฒนาการมนุษย์ คือ การส่งเสริมพัฒนาการมนุษย์เพื่อให้มนุษย์มีการพัฒนาได้ถูกต้องสอดคล้องตามช่วงวัย เพราะมนุษย์ทุกคนจะมีพัฒนาการเป็นไปตามวัยที่คล้ายๆกัน เพราะฉะนั้นการส่งเสริมไปในทางที่ถูกต้องสอดคล้องตามช่วยวัยก็จะทำให้มนุษย์หรือคนทุกช่วงวัยพัฒนาไปได้อย่างดีทีเดียว

 

ในศตวรรษที่ 21 เรามีการพัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก อาจารย์มองเห็นว่าการที่เราพัฒนาเทคโนโลยีมากมายแบบนี้ มนุษย์ถูกหลงลืมหรือถูกละเลยไปอย่างไรบ้าง

 

อาจารย์หนึ่งบอกว่า “จริงๆ เรื่องของเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ เพราะว่าเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ในแต่ละช่วงวัยมีการปรับตัวที่แตกต่างกัน วัยเด็กและวัยรุ่นจะปรับตัวได้ง่ายกว่าเพราะพวกเขาเกิดมาพร้อมกับยุคของเทคโนโลยี แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงวัยเพราะท่านเติบโตมาในยุคที่เทคโนโลยียังไม่เจริญก้าวหน้า และท่านก็ไม่สามารถปฏิเสธที่จะไม่อยู่ในสังคมแห่งเทคโนโลยีนี้ได้ อันนี้จะนำมาซึ่งปัญหาในเรื่องของการพัฒนาด้วยการใช้เทคโนโลยี”

 

ถ้าให้อาจารย์เปรียบเทียบปัญหาของพัฒนาการมนุษย์เมื่อประมาณเมื่อช่วง 20 ปีที่แล้ว กับปัจจุบัน อาจารย์เห็นความแตกต่างในเรื่องของพัฒนาการมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญอะไรบ้าง

“ปัญหาของพัฒนาการมนุษย์เมื่อ 20 ปีที่แล้วกับปัจจุบันไม่ค่อยมีความเปลี่ยนแปลงมากนัก เช่น เรื่องของพัฒนาการด้านร่างกาย ทุกคนทุกวัยมีพัฒนาการคล้ายๆกัน แต่อาจจะมีอัตราความรวดเร็วแตกต่างไปจากอดีต คือมีการพัฒนาเร็วขึ้น แต่ในเรื่องของสังคมและจิตใจเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพราะฉะนั้นคนทุกช่วงวัยจะต้องปรับตัวอย่างมากกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในเชิงสังคม พอสังคมเปลี่ยนแปลงและตัวบุคคลรับไม่ทันก็มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจและก่อให้เกิดปัญหา ดังนั้นในเรื่องของการส่งเสริมพัฒนาการมนุษย์ก็จะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย” อาจารย์หนึ่ง กล่าว

 

ปัจจุบันในช่วงระยะเวลา 3-5 ปีที่ผ่านมา เราพูดถึงเรื่องของสังคมสูงวัยกันอย่างมากและประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย อาจารย์มองว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อพัฒนาการ

ณ ตอนนี้ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุจะมีมากขึ้นในขณะที่อัตราส่วนของคนวัยอื่น เช่น วัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ก็จะลดน้อยลง ผู้สูงวัยตามหลักพัฒนาการถือว่าเป็นวัยพึ่งพิง เพราะพัฒนาการกำลังทดถอย ท่านต้องพึ่งพิงคนอื่น แต่ถ้าเราดูเรื่องของสัดส่วนหรือจำนวนของคนที่เป็นวัยให้ท่านพึ่งพิง คือวัยผู้ใหญ่ วัยเด็ก หรือวัยรุ่นที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาเพื่อเป็นหลักให้ท่านพึ่งพิงก็มีน้อยลงเช่นกัน เพราะฉะนั้นปัญหาความมีมากขึ้นของวัยผู้สูงอายุจะเป็นปัญหาใหญ่ ที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสนใจ

 

อาจารย์พอจะบอกได้ไหมว่าเมื่อประเทศไทยเข้าสูงสังคมสูงวัย ผู้สูงอายุต้องการความสนับสนุนหรือพึ่งพิงอะไรบ้างจากคนวัยทำงานหรือวัยรุ่น

อาจารย์หนึ่ง กล่าวว่า ผู้สูงอายุสภาพร่างกายจะเสื่อมถอยไปตามวัย เพราะฉะนั้นการต้องการการดูแลจากคนที่แข็งแรงกว่าจึงสำคัญ ตลอดจนต้องเน้นเรื่องของด้านจิตใจด้วย คนสูงวัยกับคนวัยอื่นๆ ตามหลักพัฒนาการมนุษย์คือจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของความคิดเห็น การดำเนินชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือปัญหาช่องว่างระหว่างวัย พอมีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างวัย ปัญหาสังคมก็จะเกิดขึ้น ผู้สูงอายุเข้าสังคมไม่ได้เหมือนคนวัยทำงาน เพราะฉะนั้นปัญหาเหล่านี้เป็นประเด็นปัญหาที่ผู้สูงอายุจำเป็นจะต้องเผชิญ ดังนั้นเราในฐานะนักพัฒนามนุษย์ต้องหาทางที่จะช่วยทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพิงตนเองได้ โดยถ้าเราเรียนในเรื่องพัฒนาการมนุษย์ จะมีหลักใหญ่ๆ สำหรับผู้สูงอายุว่าเราจะพัฒนาผู้สูงอายุอย่างไร (1) พัฒนาเรื่องของสุขภาพ (Healthy) คือมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ดูแลตนเองได้ ถ้าผู้สูงอายุดูแลตนเองได้ก็ตัดปัญญาเรื่องการต้องไปพึ่งพิงคนอื่น และ (2) พัฒนาเรื่องของความสุข (Happiness) คืออยู่อย่างมีความสุข พอมีความสุขก็จะลดปัญหาเรื่องของช่องว่างระหว่างวัย และปัญหาทางด้านจิตใจ เพราะฉะนั้นหลักการพัฒนาในวัยสูงอายุจะมุ่งเป้า 2 อย่าง คือ เรื่องของสุขภาพและความสุข

 

ถ้าให้อาจารย์ลองวิเคราะห์ผู้สูงวัยในสังคมไทยกับกับผู้สูงวัยในสังคมตะวันตก อาจารย์คิดว่าเรื่องของพัฒนาการจะมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด

อาจารย์หนึ่งบอกว่า “จริงๆ แล้วไม่ค่อยมีความแตกต่างกัน ถ้าจะต่างก็คงเป็นเรื่องของการสนับสนุนจากคนรอบข้างและจากภาครัฐ ถ้าเราดูในฝั่งของสังคมตะวันตก ประเทศที่เจริญแล้วหรือประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุก่อนประเทศไทย ประเทศเหล่านี้จะมีความพร้อมมากกว่าเรา ความพร้อมที่ว่าคือเรื่องของการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มผู้สูงอายุให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แต่ของประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความพร้อมทั้งภาครัฐหรือตัวประชาชนก็ยังมีความรู้ไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเองได้ก็ยังเป็นในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป”

 

อาจารย์คิดว่าในเรื่องพัฒนาการในกลุ่มผู้สูงอายุ องค์ความรู้ด้านไหนที่เราขาดมากที่สุด

อาจารย์หนึ่งบอกว่า “องค์ความรู้ด้านที่เราขาดมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องของพัฒนาการผู้สูงอายุ คือเรื่องของการส่งเสริมด้านสภาพจิตใจ เพราะว่าผู้สูงอายุและด้วยความที่มีพัฒนาการที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากช่วงวัยอื่นๆ เพราะฉะนั้นปัญหาการเข้ามาเชื่อมโยงหรือสร้างสัมพันธ์ภาพอันดีต่อกันค่อนข้างจะยากอยู่ นั้นคือปัญหาเรื่องของช่องว่างระหว่างวัย อันนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าคนในครอบครัวและตัวผู้สูงอายุสามารถเข้ากันได้ มีความเข้าใจกัน รักกัน และมีการทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน สร้างสัมพันธ์ภาพที่ดีต่อกันผู้สูงอายุจะมีความสุข

 

เป้าหมายหลักในการเปิดสอนหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์ คืออะไร

 

อาจารย์หนึ่งเล่าว่า “หลักสูตรพัฒนาการมนุษย์ เริ่มต้นมาจากผู้ก่อตั้งสถาบันฯ ในยุคแรกๆ มองว่าหลักสูตรนี้จะเน้นในเรื่องของเด็กว่าเด็กมีสิทธิที่จะได้รับการส่งเสริม เพราะเด็กคืออนาคตและเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะฉะนั้นผู้บริหารในยุคแรกๆ ก็มองว่าควรจะมีหลักสูตรอะไรสักอย่างที่จะส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก แต่ในขณะเดียวกัน การพัฒนาเด็กกลุ่มเดียววัยเดียว มันก็คงจะไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคนก็เลยพัฒนามาเป็นหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์ที่เน้นทุกช่วงวัย ตั้งแต่ ทารก เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ครอบคลุมในทุกช่วงวัย”

 

ผู้ที่จะสมัครเข้าเรียนในหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์ของสถาบันฯ ควรจะมีลักษณะแบบใด

ผู้เรียนที่เราคาดหวังกลุ่มแรกเลยคือคนที่ทำงานเกี่ยวข้องในเชิงของการส่งเสริมหรือแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นทั้งในภาคของรัฐหรือเอกชน เพราะคนกลุ่มนี้จะเอาองค์ความรู้ที่ได้เรียนไปส่งเสริมหรือช่วยเหลือในกลุ่มทุกช่วงวัย รองลงมาคือกลุ่มคนที่ใกล้ชิดตัวบุคคลหรือคนในครอบครัว เราก็หวังว่าคนในครอบครัวจะเข้ามาเรียนรู้และนำองค์ความรู้ไปส่งเสริม ไปแก้ไขปัญหาของคนใกล้ตัว ถ้าท่านทำได้แล้วค่อยๆขยับขยายไปสู่คนนอกครอบครัว

 

เมื่อเรียนจบหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์แล้ว ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปต่อยอดอะไรได้บ้าง

เมื่อเรียนจบแล้วนักศึกษาสามารถนำเอาองค์คามรู้เรื่องพัฒนาการมนุษย์ไปปรับใช้หรือต่อยอดกับวิชาชีพของตนเองได้ เพราะพัฒนาการมนุษย์ก็เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมืออันหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ระบุตำแหน่งในวิชาชีพใดแต่มีความสำคัญในทุกบทบาทหน้าที่ของวิชาชีพอื่นๆ เช่น ครู ถ้าครูมีความรู้เรื่องการพัฒนาเด็ก และวัยรุ่น ครูก็สามารถจะไปต่อยอดวิชาชีพได้ หรือ พยาบาล ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ถ้าท่านมีองค์ความรู้ตัวนี้ ก็จะสามารถขยายผลไปสู่กลุ่มคนต่างๆได้ หรือถ้าเป็นภาคธุรกิจเอกชน ท่านอาจจะนำความรู้ตรงนี้ไปทำการเปิดศูนย์พัฒนาเด็ก สถานดูแลเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ ก็สามารถทำได้เช่นกัน

 

ผู้ที่สมัครเข้ามาเรียนหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นใคร และจะได้เรียนอะไรบ้าง

ผู้ที่มาเรียนจะมีหลากหลายอาชีพ แต่กลุ่มหลักใหญ่ คือ ครู พยาบาล กลุ่มผู้ดูแลผู้สูงอายุ และกลุ่มภาคธุรกิจ นักศึกษาที่สมัครเรียนหลักสูตรนี้จะได้เรียนทั้งวิชาหลักและวิชาเลือก ได้เรียนพื้นฐานของความรู้ ตลอดจนการฝึกภาคปฏิบัติและการนำไปใช้   วิชาหลัก คือ พัฒนาการมนุษย์ ในรายวิชานี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ ตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ ว่ามีพัฒนาการอะไรบ้างเพื่อที่นักศึกษาจะได้เข้าใจพัฒนาการพื้นฐานว่าคนเปลี่ยนแปลงไปแบบไหนอย่างไร ทั้งเรื่องของร่างกาย จิตใจและสังคม พอนักศึกษามีพื้นความรู้ตรงนี้แล้วก็จะนำไปสู่การปฏิบัติ รายวิชาถัดมาก็จะเป็นกลุ่มวิชาที่ให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติเอาความรู้พื้นฐานที่เรียนเรื่องของพัฒนาการมนุษย์มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับทุกช่วงวัย นอกจากนั้นก็จะเป็นวิชาเสริมในแง่ของการศึกษาองค์ความรู้ เช่นวิจัย สถิติ อันนี้ก็จะเป็นช่องทางให้นักศึกษาได้เพิ่มพูนความรู้ของตนเอง

 

ความพร้อมของผู้เรียนที่จะสมัครเข้าเรียนหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์ควรมีอะไรบ้าง

นักศึกษาหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจจะสมัครเรียนหลักสูตรนี้ ท่านต้องมีความตั้งใจอยากจะเรียนในเรื่องของพัฒนาการมนุษย์ และอยากจะนำองค์ความรู้ไปพัฒนาประเทศ ซึ่งเมื่อนักศึกษาเรียนจบ นักศึกษาจะได้องค์ความรู้ และรู้จักพัฒนาการของทุกๆช่วงวัย นักศึกษาอาจจะมีโอกาสที่จะพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆที่เราได้เรียนมาให้เกิดเป็นแนวทางปฏิบัติและเป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมหรือแก้ไขปัญหาในลักษณะของนวัตกรรมเพื่อสังคม

 

การเรียนหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์มีอุปสรรคอย่างไรบ้าง

“อุปสรรคที่ยากที่สุดในการเรียนหลักสูตรนี้อาจจะเป็นในเรื่องของภาษา เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลมีข้อกำหนดระบุไว้ชัดเจนว่าในการจบออกไปของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล นักศึกษาจะต้องสามารถตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ” อาจารย์หนึ่ง กล่าวทิ้งท้าย

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาการมนุษย์
(ภาคปกติและภาคพิเศษ)
งานบริการวิชาการ การศึกษาและเทคโนโลยี โทร. 02-441-0601-10 ต่อ 1509
หรือสมัครออนไลน์ด้วยตนเองที่ www.grad.mahidol.ac.th