Select Page

วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม 2568  สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าวผลลัพธ์โครงการวิจัย“โปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ที่มีธรรมชาติเป็นฐานการเรียนรู้เพื่อสร้างนักนวัตกร : กรณีศึกษาเกาะลัดอีแท่น จ.นครปฐม” โดยมีคณะวิจัย นำโดย   ดร.กัญญาวีร์ แก้วนุ้ย อาจารย์ ธาม เชื้อสถาปนศิริ ดร.สิริกัญญา โตรักษา  ได้ร่วมแถลงผลลัพธ์การวิจัย เรื่อง “โปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ที่มีธรรมชาติเป็นฐานการเรียนรู้เพื่อสร้างนักนวัตกร :กรณีศึกษาเกาะลัดอีแท่น จ.นครปฐม” อันเป็นโครงการย่อยที่ 7 ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “โครงการพัฒนาสุขภาพ พัฒนาการ การเรียนรู้เด็กทั้งมวล และนำสู่การขับเคลื่อนนโนบาย” โดยมี ดร.นุชนาฎ รักษี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เป็นประธานในการแถลงข่าวครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมี ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการศึกษาและเรียนรู้ ได้แก่ ดร.อาภัสรินทร์ ขณะรัตน์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงษ์  และ นางธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ รองนายกสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ผู้บริหารโรงเรียนบริเวณชุมชนเกาะลัดอีแท่น ได้แก่ นายทวี เนื่องอาชา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าตลาด นางวีนา แก้วอนุ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่าพูด นายกิตติคุณ ผายทอง ตัวแทนโรงเรียนวัดทรงคนอง  รวมทั้ง ตัวแทนผู้นำชุมชนเกาะลัดอีแท่น ได้แก่ นายประกิต สุนประชา ประธานวิสาหกิจชุมชนเกาะลัดอีแท่น นายลือชัย มีกุล นางรัดเกล้า มีกุล โดยงานวิจัยนี้มีเป้าหมาย 1) เพื่อศึกษาและสำรวจศักยภาพทรัพยากรและแหล่งเรียนรู้ในชุมชนสู่การสร้างนวัตกร 2) เพื่อพัฒนาและออกแบบนวัตกรรมการเรียนรู้ของชุมชนสู่การสร้างนวัตกร 3) เพื่อนำต้นแบบนวัตกรรมการเรียนรู้ของชุมชนไปทดลองใช้กับครอบครัว  งานวิจัยชิ้นนี้เป็นตัวอย่างของการพัฒนานวัตกรรมทางด้านการศึกษาเรียนรู้บนความร่วมมือกันหลายฝ่ายเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เด็กมีความรู้ ทักษะและทัศคติต่อการเรียนรู้เรียนรู้เชิงประสบการณ์บนฐานธรรมชาติด้วยแนวคิด STEAM ในโลกยุคปัจจุบัน ผลการวิจัยนี้ได้พัฒนาศักยภาพของชาวบ้านให้พัฒนา “พื้นที่แห่งการเรียนรู้” โดยชุมชนเกาะลัดอีแท่นมีศักยภาพสูงในการเป็น “แหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้” เป็นห้องเรียนธรรมชาติสำหรับเด็ก และได้พัฒนาศักยภาพแห่งการมีส่วนร่วม “ในชุมชนเกาะลัดแท่น” ตั้งแต่ก่อนเริ่มดำเนินการวิจัย ระหว่างดำเนินการวิจัย และภายหลังจากการวิจัยเสร็จสิ้นลง

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

(1) พัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างนักนวัตกรต้องสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ที่เด็กมีความคุ้นเคยอย่างต่อเนื่องและมีบูรณาการทั้งจากที่บ้าน สถานศึกษาของรัฐ และแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ การวิจัยนี้เป็นเพียงกรณีศึกษาหนึ่งเพื่อแสดงให้เห็นว่าที่ชุมชน โรงเรียน ครอบครัว สามารถจัดการเรียนรู้ร่วมกันได้และมีบทบาทสำคัญในการสร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ในห้องเรียนธรรมชาติหรือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้

(2)กำหนดให้ “แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น” เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการศึกษาเชิงพื้นที่ (Place-Based Education) ในการดำเนินการดังกล่าวกระทรวงศึกษาธิการควรสนับสนุนการจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยสนับสนุนให้แหล่งเรียนรู้ธรรมชาติแต่ละท้องถิ่นให้มีการพัฒนา “หลักสูตรท้องถิ่น” และส่งเสริมให้สถานศึกษาใช้ “ฐานกิจกรรม STEAM” เพื่อปูพื้นฐานเด็กสู่การเป็นนักนวัตกร และเพื่อพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21

(3) ส่งเสริมกลไก “สามประสาน” ระหว่างชุมชน-โรงเรียน-บ้าน โดยสร้างศูนย์เรียนรู้ร่วม (Co-learning Space) โดยมีชาวบ้านเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ที่โรงเรียนเป็นพี่เลี้ยงในด้านการออกแบบกิจกรรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ STEAM และครอบครัวมีส่วนร่วมในการสะท้อนความต้องการของเด็ก เพื่อให้ท้องถิ่นชุมชนสามารถจัดการพื้นที่และเป็นผู้ดูแลเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ เพื่อให้แหล่งเรียนรู้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กและครอบครัวในท้องถิ่นอย่างแท้จริง

(4) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กผ่านแนวคิด STEAM และจัดทำมาตรฐานกิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นและหลักสูตรแกนกลาง โดยพัฒนาชุดคู่มือสำหรับครูและนักออกแบบกิจกรรมที่สามารถประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ และกำหนดเกณฑ์คุณภาพกิจกรรมการเรียนรู้จากชุมชนเพื่อใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้กิจกรรมนอกหลักสูตร

(5) การพัฒนาร่องรอยการเรียนรู้ (Portfolio) อย่างเป็นระบบสำหรับการเรียนรู้รายบุคคลเป็นสิ่งสำคัญ งานวิจัยต่อไปสามารถต่อยอดนี้นำไปใช้เป็นประโยชน์ในการประกอบการเรียนรู้ของเด็กได้
โดยมี ดร.กนกพร ดอนเจดีย์  เป็นผู้ดำเนินรายการ มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังงานแถลงข่าว ผ่าน ระบบ hybrid  กว่า 30 คน ณ ห้องประชุมเจริญคุณธรรม ชั้น 3 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

สำหรับผู้ที่พลาดการเข้าร่วมงานครั้งนี้ สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่:

https://www.youtube.com/live/pVIopHO4KM8?si=meHgoltL_albSKj6

ติดต่อขอรับข้อมูลวิจัย: อ.ดร. กัญญาวีร์ แก้วนุ้ย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 024410601-10 โทรสาร. 024410167 E-mail: kanyawee.kae@mahidol.ac.th

กดติดตามความรู้ข่าวสารและกิจกรรมดี ๆ ของสถาบันฯ ได้ที่
Facebook Fanpage: NICFD Mahidol
Website ของสถาบัน: https://cf.mahidol.ac.th/th/

เข้าร่วม LINE OA: https://shorturl.at/3zxhk

 

10 views