รายวิชา ดคศท 101 ออกแบบชีวิต
รายวิชา “ออกแบบชีวิต” (Life Design) จัดขึ้นโดย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเปิดให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 และนักศึกษาทุกชั้นปี จากทุกคณะ/สถาบันของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2567 โดยมีกำหนดเรียนทุกวันพฤหัสบดี ระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม – 16 ธันวาคม 2567 โดยเป็นการเรียนการสอน ในรูปแบบที่ 1 ON-Line/Demand ด้วยการศึกษาบทเรียนด้วยตนเอง และ รูปแบบ Live Zoom 6 ครั้ง สถานที่เรียนสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
วัตถุประสงค์เพื่อมุ่งส่งเสริมให้บัณฑิตพัฒนาความรู้แจ้งรู้จริงทั้งด้านกว้างและลึกเกี่ยวกับชีวิตของตนเองและผู้อื่น (T-shaped breadth & depth) ตามคุณลักษณะบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดล (MU-Graduate Attributes) การพัฒนาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพพัฒนาทักษะการเรียนรู้การใช้สื่อและเทคโนโลยีและทักษะชีวิตของตนเอง รวมถึงส่งเสริมให้บัณฑิตพัฒนาสมรรถนะหลัก (MU Graduates Core Competencies) ทางด้านสติปัญญา (Cognitive Domain) สมรรถนะระหว่างบุคคล (Interpersonal Domain) และสมรรถนะภายในตัวบุคคล (Intrapersonal Domain) เพื่อให้มีความพร้อมในการดำเนินชีวิตและการทำงานในอนาคต
รายวิชานี้เน้นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ทบทวนชีวิตตนเอง ใช้กระบวนการคิด วิพากษ์ สำรวจสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้ร่วมกันกับผู้อื่น (Active Learning) อาทิ การอภิปรายกลุ่ม การจัดทำแผนที่ความคิด การระดมสมอง การสืบค้นข้อมูลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อ การศึกษาดูงานในสถานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว สังเกตการณ์และเก็บข้อมูล การวิเคราะห์กรณีศึกษา สะท้อนคิด (Reflection) และการสรุปการเรียนรู้ร่วมกัน
โดยมีทีมผู้สอนของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จากสหวิชาชีพที่มีองค์ความรู้ ประสบการณ์ และมุมมองที่หลากหลาย ประกอบด้วย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ (ผู้อำนวยการสถาบันฯ) ดร.อธิวัฒน์ เจี่ยวิวรรธน์กุล (รองผู้อำนวยการสถาบันฯ) ผศ.ดร.วสุนันท์ ชุ่มเชื้อ ดร.นนทสรวง กลีบผึ้ง ดร.กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา ดร.นุชนาฎ รักษี ดร.ชฏารัตน์ เฮงษฎีกุล ดร.ธีรตา ขำนอง และ อาจารย์ธาม เชื้อสถาปนศิริ โดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผล การพิมพ์ จะนำสอนในหัวข้อ “ความปลอดภัยในชีวิต/ความท้าทายและการเผชิญความเสี่ยง” นอกจากนี้ ยังมีการสอนในอีกหลายหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ “ปรัชญาและความหมายของชีวิต” “เป้าหมายและการวางแผนชีวิต” “บทบาทของครอบครัว” “เสวนาชีวิต” “การออกแบบชีวิตมิติโลกกายภาพ” “ภูมิคุ้มกันและนวัตกรรมชีวิต” “การออกแบบชีวิตมิติโลกเสมือนจริง” “สถาปัตยกรรมสมอง” “ผู้ประกอบการชีวิต” “การวิพากษ์ชีวิต” และ “การสร้างพลังความคิดบวก”
ปิดท้ายด้วยการนำเสนอโครงงานชีวิต (Life Project) ของตัวนักศึกษาเอง โดยมุ่งให้นักศึกษาได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต พัฒนาการมนุษย์ บทบาทครอบครัว และชีวิตในมิติของพัฒนาการ ปัญหา อุปสรรค และการบริหารจัดการชีวิต ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น จนถึงการสร้างครอบครัว จุดเด่นของวิชานี้ คือ การบูรณาการศาสตร์และศิลป์ วิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ การบริหารและปรัชญาเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้นักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้ความรู้สหวิทยาการในการวิเคราะห์ วางแผนและรับมือกับสถานการณ์ปัญหาสังคม สามารถพัฒนาความรู้ และปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง มีความเข้าใจตนเอง ตระหนักในคุณค่าของชีวิตและสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความหมาย สามารถใช้สื่อและเทคโนโลยีเพื่อถ่ายทอดความรู้เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคม ตลอดจนสามารถออกแบบและพัฒนาชีวิตตนเองเพื่อสุขภาวะที่ดีได้
รายวิชา “ออกแบบชีวิต” ในหัวข้อ “การออกแบบชีวิตมิติโลกเสมือนจริง” กล่าวว่า “วัยรุ่นสมัยนี้ใช้ชีวิตในโลกเสมือนจริงมากเกินไป และให้คุณค่ากับมันมากเกินไป วิชานี้จะสอนให้นักศึกษาให้สามารถออกแบบชีวิตในโลกเสมือนจริง โดยให้ลองเปรียบเทียบกับชีวิตจริงในเชิงกายภาพของนักศึกษาว่าเป็นอย่างไร ความเป็นมนุษย์ดิจิทัล และกายภาพ มันแตกต่างกันอย่างไร การออกแบบชีวิตที่สมดุลในสองโลกจึงเป็นเรื่องที่เราควรทบทวนวางแผน แม้กระทั่งการเลือกคู่ครอง การมีแฟน มีคนรัก หรือการคบเพื่อน เหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวนักศึกษามาก บางคนสนใจเรื่องการทำธุรกิจ การวางแผนหลังเรียนจบ หรือวางแผนจะทำหลายอย่างในขณะเรียน เราจะชวนนักศึกษามาวางแผนการบริหารจัดการชีวิตให้สนุก เราเชื่อว่า “เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย” เพราะอาจารย์ทุกคนล้วนผ่านมันมาแล้ว แต่สมัยนี้อาจมีบริบทที่แตกต่างกันออกไป เราอยากให้นักศึกษามีทักษะชีวิต (life-skill) ที่ทำให้ชีวิตมีภูมิ เราไม่ได้สอนให้เหนื่อยน้อยลง แต่เราอยากช่วยให้นักศึกษาสนุกและมีความสุข สมดุลกับชีวิตมากขึ้น “ นอกจากนี้ จะมีการพูดในเรื่อง “ความเสี่ยงในชีวิต” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการติดเกม ติดเพื่อน ติดสื่อ ติดโซเชียล ติดยาเสพติด หรือการติดการพนัน ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดผลกระทบกับชีวิตในเชิงลบของวัยรุ่นปัจจุบัน วัยรุ่นสมัยนี้เป็น google baby ที่โตมาในสื่อเทคโนโลยีที่แสวงหาคำตอบได้ง่าย เราจึงไม่ผูกขาดคำตอบ แต่เราจะสอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้ว่าความเสี่ยงในชีวิตมีอะไรบ้าง และเปิดโอกาสให้นักศึกษาให้รู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม โดยจะไม่มีการชี้นำคำตอบ หรือทางออกของปัญหา แต่จะให้นักศึกษาได้รู้จักคิดและหาคำตอบเอง โดยมีอาจารย์ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ที่อำนวยกระบวนการเรียนรู้ให้นักศึกษาเท่านั้น วิชานี้จึงไม่มีถูกหรือผิด มีแต่ความใส่ใจ ความลึกซึ้ง และการสำรวจตัวตนชีวิตของนักศึกษาเท่านั้น” เมื่อถามถึงความเป็นมาของหลักสูตร อาจารย์ธาม เชื้อสถาปนศิริ เล่าว่า “แรกทีเดียวทางทีมผู้สอนตั้งเป้าไว้จะให้ Life Design เป็นวิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยอยากจะสอน เหมือนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และเอ็มไอที เปิดวิชาการออกแบบชีวิตให้กับนักศึกษาเพื่อเป็นเสมือนเข็มทิศนำทางการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย การแปลงความรู้เป็นทักษะ เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาให้ก้าวข้ามผ่านปัญหา และเข้าใจชีวิตได้อย่างที่เขาจะให้ความหมาย “ที่สแตนฟอร์ด หรือเอ็มไอที จะเปิดเป็นวิชาสำหรับนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย และได้รับความนิยมมาก นับเป็นวิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยได้สอนนักศึกษาก่อนออกสู่โลกกว้าง แต่พอมาปรับเป็นวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) ที่นี่ เลยมีการลดทอนระดับของเนื้อหาให้เหมาะสมกับผู้เรียน และมุ่งหมายว่า วิชานี้จะเป็นวิชาที่ทำให้นักศึกษากลับไปแลกเปลี่ยน พูดคุยกับพ่อแม่ ครอบครัว เพื่อน และเข้าใจผู้คนที่มีความแตกต่างในสังคมมากขึ้น “ในวิชานี้ นักศึกษาจะได้เรียนและปฏิบัติ ที่สำคัญคือ การบ้าน หรืองานเขียน หรือโปรเจคส่วนตัวของเขา พ่อแม่ ผู้ปกครองอาจจะได้อ่านงานเขียนที่สะท้อนตัวตน สำรวจความหมาย และการแสวงหาค้นพบในสิ่งที่ลูกๆ มุ่งหมายคาดหวังด้วย “แผนชีวิตไม่ใช่ KPI ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ แต่เปรียบเหมือนแผนล่องเรือ คุณไม่รู้หรอกว่า พายุจะมาเวลาใด ตอนคุณอยู่กลางมหาสมุทร คุณไม่ได้มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตไว้เปิด wifi เข้าเช็คกับกรมอุตุนิยมวิทยา คุณต้องรับมือกับสถานการณ์ได้ทุกอย่าง ชีวิตจึงไม่สามารถตั้งเป็น KPI ได้อย่างชัดเจนตายตัว เพราะ “ชีวิต” คือ “การเดินทาง” ไม่ใช่ “เป้าหมาย” สิ่งที่จะทำให้คุณจดจำ คือ สิ่งที่อยู่ “ระหว่างทาง” ซึ่ง Life Design สนใจตรงนั้นมากกว่า “ความล้มเหลว” ไม่ได้อยู่ที่คุณไปไม่ถึง “เป้าหมาย” แต่ความล้มเหลวอยู่ที่คุณ “ทำได้ไม่เท่าที่คุณหวัง” ซึ่งก็คือ “ระหว่างทาง” ที่ว่านั้นเอง “การดำรงชีวิต” คือ การแสวงหา “ความหมายของชีวิต” นักปรัชญาชีวิต ฌอง ปอล ซาร์ต กล่าวไว้ว่า ผู้คนที่ยุติชีวิตของตัวเองลง เป็นเพราะพวกเขาค้นหาความหมายของการดำรงชีวิตต่อไปไม่เจอ เราไม่อยากสอนให้นักศึกษาเจอภาวะแบบนั้น เราอยากให้นักศึกษาเข้าใจ และมองชีวิตในเชิงที่มีคุณค่า และความท้าทาย เข้าใจตนเอง และผู้อื่น วิชานี้จึงเป็นเหมือน “ไม้พาย” หรือใบเรือ “เข็มทิศ” เป็นเรื่องที่คุณต้องกำหนด แต่ “ไม้พาย” เป็นเรื่องของเรา เรามั่นใจว่า นี่จะเป็นวิชาที่นักศึกษาเรียนแล้วรู้สึกสนุก และมีความสุขที่สุดในการใช้ชีวิตนักศึกษา เพราะการใช้ชีวิตคือห้องเรียนที่ใหญ่ และมีความหมายมากที่สุด”
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ |