โดยความร่วมมือระหว่าง
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยามหิดล ร่วมกับ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร,สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แม้ในประเทศไทยจะมีหลักประกันสุขภาพให้การดูแลเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา มีระบบการส่งเสริมการศึกษาของเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 2 ปี แต่ในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงที่เจริญที่สุดกลับมีปัญหาคนจนเมืองและมีความเหลื่อมล้ำของการดูแลและให้การศึกษาของเด็กเล็กๆหรือที่เรียกว่าเด็กปฐมวัย พบว่า มีเด็กเล็กๆ ที่อยู่ในครอบครัวยากจน ชุมชนแออัด พ่อแม่มีความไม่พร้อมด้วยเหตุหลายประการ เช่น เป็นวัยรุ่น เป็นประชากรแฝง เลี้ยงเดี่ยว ติดยา ครอบครัวใช้ความรุนแรง แตกแยก เด็กในครอบครัวเหล่านี้หลุดออกจากการดูแลสุขภาพในระบบประกันสุขภาพ เข้าไม่ถึงระบบการเรียนฟรี 15 ฟรี หลายคนหลายครอบครัวเข้าไม่ถึงหรือไม่มีสิทธิในโครงการเงินอุดหนุนทารกแรกเกิด หรือโครงการช่วยเหลือความยากจนอื่นๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัวยากจนเหล่านี้มากขึ้น กรุงเทพมหานคร จึงได้ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ติดตามปัญหานี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบค้นหาคัดกรอง และ ช่วยเหลือเด็กปฐมวัยในครัวเรือน บรรเทาความเดือดร้อนจากการระบาดของ COVID-19 และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ พัฒนาการ ศักยภาพการเรียนรู้ และพฤติกรรมของเด็กในระยะยาว
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการนี้ได้พัฒนาระบบค้นหากลุ่มเด็กยากจนและอยู่ในครอบครัวที่มีภาวะบกพร่องซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบการดูแลสุขภาพและระบบการศึกษา และเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการระบาด COVID-19 โดยทำงานร่วมกับครูปฐมวัย อาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสส. อาสาสมัครพัฒนาสังคมหรือ อพม. กว่า 70 ชุมชน ศึกษาเด็กปฐมวัย 1,392 คน ในพื้นที่ชุมชนแออัด พบว่า
- ร้อยละ 41 ของเด็กเหล่านี้มีความยากจนและขาดแคลนสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต
- ร้อยละ 24 ต้องอยู่ในครอบครัวที่มีภาวะบกพร่องอย่างน้อย 2 ใน 5 ด้าน (ครอบครัวที่มีภาวะแตกแยก ตีกัน ติดคุก ติดยา สภาพจิตไม่ปกติ)
- ร้อยละ 28 ได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม อย่างน้อย 1 ใน 5 ด้าน (ละเลยทางกาย ละเลยทางอารมณ์ ทำร้ายทางกาย ทำร้ายทางอารมณ์ ทำร้ายทางเพศ) ในช่วง COVID-19
- ร้อยละ 77 มีพัฒนาการถดถอย ร้อยละ 90 ขาดการศึกษาต่อเนื่อง
เด็กบางคนถูกค้นพบว่า แม้ถึงวัยที่จะเข้าสู่สวัสดิการเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งจะได้รับการช่วยเหลือทั้งค่าเรียน ค่าอาหารและนม แต่ก็ยังอยู่นอกระบบการศึกษาปฐมวัย เด็กนอกระบบกลุ่มนี้มีสัดส่วนของความยากจน ภาวะครอบครัวบกพร่องถึงร้อยละ 90
จากผลที่ได้คาดประมาณได้ว่า ร้อยละ 23.6 ของเด็กในพื้นที่ชุมชนแออัดต้องตกอยู่ในภาวะยากลำบากหรือ
ปริแยก แตกร้าว คือ อยู่ในครอบครัวที่มีภาวะยากจน ขาดแคลน ภาวะครอบครัวบกพร่อง หรือได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ที่มีความรุนแรงที่ต้องให้การช่วยเหลือ คิดเป็น 5,360 ราย
ครูปฐมวัย อสส. อพม. ในพื้นที่ปฏิบัติงานและนักวิชาการของโครงการได้ให้การช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบขจากการระบาด COVID-19 ทั้งทางสุขภาพ โภชนาการ การส่งเสริมพัฒนาการ การเชื่อมต่อสู่การช่วยเหลือต่างๆ ของภาครัฐ มีการติดตามเยี่ยมบ้าน (Intensive Home Visit) ทำงานกับครอบครัวเหล่านี้ต่อเนื่อง และการจัดระบบดูแลทดแทนและผู้ดูแลทดแทนบางช่วงเวลาเสริมการเลี้ยงดูครอบครัว เช่น การจัดพื้นที่การเล่น (Play Area) บ้านรับเลี้ยงเด็ก รวมทั้งได้เตรียมศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อฟื้นฟูเด็กหลังการระบาด
ซึ่งพบว่า เด็กมีพัฒนาการล่าช้ามากขึ้น มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงจากการได้รับผลกระทบจากภาวะเครียดในครอบครัว รวมทั้งต้องทำงานกับครอบครัวซึ่งมีทั้งความยากจนและภาวะบกพร่องที่รุนแรงขึ้น และการเก็บตกเด็กที่หลุดออกนอกระบบที่พบจำนวนมากขึ้น ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่ทีมชุมชน ครู/ผู้ดูแลเด็กปฐมวัย ในโครงการและให้การฝึกอบรมการดูแลเด็กในภาวะยากลำบากมากกว่า 11 หลักสูตร
ศ. นพ. สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ มีเป้าหมายในการนำผลสำเร็จจากงานวิจัยและนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งแก้ปัญหาสำคัญและเป็นวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโร8 COVID-19 วช. ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา หรือ ศปก. วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในกำลังหลักของศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 หรือ ศบค. ในการร่วมแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทย ที่ผ่านมา วช. มีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามสถานการณ์ของโรค COVID-19 ที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ระยะแรกของการระบาดจนถึงปัจจุบันโดยได้สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในสถานการณ์จริง โดยโครงการวิจัย “การเฝ้าระวังภาวะประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์ของเด็กปฐมวัยและการแทรกแซงเพื่อฟื้นฟูสุขภาวะเด็กและ
ครอบครัวในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากโรคระบาด COVID-19 และหลังวิกฤต” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จในส่งเสริมและสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของ วช. ที่สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมมาใช้แก้ไขปัญหาในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ได้ ซึ่งจากผลการศึกษาพบปัญหาความจริงที่สังคมต้องยอมรับว่า “คำว่า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ยังเป็นคำสวยหรูที่ห่างไกลความจริง การศึกษานี้พบความสัมพันธ์ของความยากจน ภาวะครอบครัวบกพร่อง การเลี้ยงดูไม่เหมาะสม และการตกหล่นออกนอกระบบการศึกษาปฐมวัย เด็กปฐมวัยในพื้นที่ชุมชนแออัดยังอยู่ในความยากจน อยู่ในครอบครัวที่มีความบกพร่อง ได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม และหลุดออกนอกระบบสวสดิการของภาครัฐ เมื่อเกิดภาวะวิกฤตในสังคม ครอบครัวของเด็กเหล่านี้จะได้รับผลกระทบให้ยากจนมากขึ้น ครอบครัวมีภาวะเครียดทำหน้าที่บกพร่องมากขึ้น ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบาย ชุมชน ท้องถิ่นต่างๆ ต้องนำผลการศึกษาไปขยายผลต่อ พัฒนาระบบการเฝ้าระวังและชี้เป้าเด็กในครอบครัวยากจนรุนแรง และมีภาวะครอบครัวภาวะบกพร่องร่วมด้วย พัฒนากระบวนการป้องกัน ช่วยเหลือ ฟื้นฟูทั้งการพัฒนาระบบข้อมูล กำลังคน นโยบาย และงบประมาณ ร่วมกับนักวิชาการ มหาวิทยาลัยกับท้องถิ่นต้องทำงานคู่กัน ให้เกิดนโยบาย แนวทางการปฏิบัติบนฐานความรู้เชิงประจักษ์ เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ สังคมสงบสุข วช. พร้อมสนับสนุนงานวิจัยที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ กลุ่มเปราะบางและปัญหาวิกฤตทางสังคมต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป
รศ.ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีพันธะสัญญาต่อชุมชนในการ “การยกระดับ” ทางวิชาการเพื่อทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง เพื่อสนองรับนโยบายของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ได้นำไปสู่ “การเสริมพลัง” (Synergies) หรือการสร้างเครือข่ายที่รวบรวมเอาความเชี่ยวชาญที่หลากหลายของมหาวิทยาลัยมาทำประโยชน์เพื่อสังคมร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันมหิดลได้สร้างกลไกหลายอย่างเพื่อสร้างองค์ความรู้ การสร้างความสามารถของคนที่จะร่วมกันเป็นพลังเดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติ และผลักดันแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิด “ความครอบคลุมทางสังคม – Social Inclusiveness” โดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวกับการดูแลเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส เด็กพิเศษกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีความร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ ในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กทม. ซึ่งเป็นมหานครขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนของปัญหาที่มากขึ้นกว่าพื้นที่เขตเมืองปกติ เป็นพื้นที่ให้นักวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดลได้นำองค์ความรู้ จากงานวิจัยมาทำให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมกับสังคมในภาพรวม
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้จัดตั้ง คณะอนุกรรมการ
พัฒนาศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนและการดูแลเด็กปฐมวัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยรวมพลังความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ โดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลผลิตการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ได้ให้เกียรติร่วมเป็นกรรมการด้วย เพื่อเป้าหมายหลัก 2 ประการ ได้แก่
- พัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ กทม. และการพัฒนาทักษะให้แก่ครูผู้ดูแลเด็ก
ที่ไม่จำกัดเพียง ศพด. ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. 278 ศูนย์ ดูแลเด็ก 18,864 คน อยู่ในพื้นที่ 45 เขตเท่านั้น
จากที่กทม. มีทั้งหมด 50 เขต แต่ต้องมีแนวทางให้การสนับสนุนศูนย์ในชุมชนที่ไม่ได้รับการจัดตั้งและช่วยเหลือเด็กกทม.อีก 63,997 คน ที่ยังไม่ทราบว่าอยู่ในการดูแลของสังกัดใด จากการสำรวจของสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2564 - ติดตามกลุ่มเด็กยากจน เด็กในภาวะยากลำบากต่างๆ สนับสนุนการพัฒนากำลังคนและความสามารถของคนในชุมชนที่ต้องทำงานกับเด็กและครอบครัวที่มีภาวะยากลำบาก ให้มีความรู้และทักษะ ในการเฝ้าระวังและให้การดูแล ฟื้นฟู และป้องกันเด็กในภาวะยากลำบาก และจะขยายให้การดำเนินงานนี้ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่ ครอบคลุมเด็กในภาวะยากลำบากทุกคน
อย่างไรก็ตาม กทม. มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระเบียบต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดให้ศูนย์สามารถดูแลเด็กๆได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ เช่น
- การปรับสถานะของศูนย์ให้มีความเป็นอิสระให้สามารถบริหารจัดการตนเองได้มากขึ้น
- การปรับสถานะครูให้ได้รับการพัฒนาทักษะและได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม
- การปรับเงินอุดหนุน ค่าอาหาร ค่านม และค่าอุปกรณ์การเรียนรู้ของเด็กรายบุคคลให้เหมาะสมและเพียงพอ โดยเบื้องต้น กทม. ได้ปรับระเบียบเงินอุดหนุนค่าอาหารและนมของเด็กต่อวันจาก 20 บาท เป็น 32 ต่อคนต่อวัน
ค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน/เสริมทักษะ จาก 100 บาท เป็น 600 บาทต่อคนต่อปี เรียบร้อยแล้ว - การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายพัฒนาชุมชน สำนักงานเขต ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือสงเคราะห์มากกว่าด้านการจัดการเรียนรู้ ต้องเป็นจุดเชื่อมโยงอสม. อพม. โรงเรียนอนุบาล ให้เป็นทีมบูรณาการในพื้นที่เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย
ภายใน ปี 2566 กทม. มีแผนทดลองนำร่องการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนผ่านกลไก Sandbox อย่างน้อย 30 แห่ง ร่วมกับองค์กรภาคี ได้แก่ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา (กสศ.), รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป, สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม เพื่อสร้างต้นแบบการพัฒนาคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกมิติ ตั้งแต่อายุ 2 ถึง 8 ปี ให้มีความพร้อมเพื่อพัฒนาสุขภาพ ศักยภาพการเรียนรู้ และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของเด็กๆ ให้เติบโตไปด้วยกันทั้งเด็กปกติและเด็กที่อยู่ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤติต่างๆ ของสังคม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
คุณนุจนา กันแก้ว โทร. 0846770594
คุณนฤชิต ตันประยูร (นักประชาสัมพันธ์) โทร 089-1239182