Select Page

“เป็นตัวเองได้ดีขึ้น: พัฒนามนุษย์ด้วยพัฒนาการมนุษย์”

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) :  สาขาวิชาพัฒนาการมนุษย์

สถาบันเด็กฯ ม.มหิดล

 


August 27, 2020

ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร

อาจารย์

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

“พัฒนาการมนุษย์ เมื่อเรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพเป็นตัวเองได้ดีขึ้น กล่าวคือ ถ้าเป็นลูกก็จะเป็นลูกที่ดีขึ้น เป็นพ่อแม่ก็จะเป็นพ่อแม่ที่ดีขึ้น ถ้าอยู่ในสังคมก็จะเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น ในวิชาชีพทุกๆ วิชาชีพต้องการคนที่รู้จักศักยภาพของตนเองและทำงานร่วมกับคนอื่นเป็น ดังนั้นเมื่อจบจากวิชานี้ไปแล้วคุณจะเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาแล้ว จะไปประกอบอาชีพอะไรก็จะประกอบอาชีพนั้นๆ ได้ดีขึ้น”

 

วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร

อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว

มหาวิทยาลัยมหิดล หลักสูตรพัฒนาการมนุษย์ ปริญญาโท มาฝากกันค่ะ

 

Q: อาจารย์สอนรายวิชาอะไรบ้างในหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์

A: รายวิชาที่อาจารย์รับผิดชอบก็จะมีรายวิชาการอบรมเลี้ยงดูเชิงบวก (Positive Parenting) เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก (Positive Discipline Techniques) โปรแกรมส่งเสริมพัฒนาการเด็ก (Child Developmental Promotion Program) การส่งเสริม Executive Functions (EF) ในเด็กปฐมวัย และสัมมนาพัฒนาการมนุษย์ (Seminar in Human Development)

 

Q: ทั้ง 5 รายวิชาที่อาจารย์เป็นผู้สอนเนื้อหาแต่ละรายวิชาเป็นอย่างไร

A: สำหรับรายวิชา “การอบรมเลี้ยงดูเชิงบวก (Positive Parenting) จะพูดถึง Mind Set ของผู้ที่จะมาเป็นผู้เลี้ยงดูเด็ก เป็นคุณพ่อคุณแม่ ผู้ดูแลเด็กเล็ก และ ปู่ย่าตายาย เป็นต้น ซึ่งการอบรมเลี้ยงดูเชิงบวกก็จะอธิบายถึงบทบาทของผู้เลี้ยงดูเด็กเล็ก กรอบแนวคิดในเชิงบวกว่าการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งน่าจะมีกรอบความคิดในการเลี้ยงดูแบบกรอบแนวคิดเติบโต (Growth Mind Set) อย่างไร ตลอดจนการสมดุลความต้องการของตัวเองกับบทบาทหน้าที่ในการเลี้ยงดูเด็กเล็กทำอย่างไรไม่ให้เครียด รายวิชาถัดมา “เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก (Positive Discipline Techniques)” เนื้อหาของรายวิชานี้จะสอนในเรื่องของเทคนิคโดยเฉพาะ โดยผู้เรียนจะได้เรียนรู้เทคนิคหรือเครื่องมือต่างๆ ว่าเราจะมีวิธีการสื่อสารกับเด็กอย่างไรให้เขายังคงความเป็นตัวของตัวเองอยู่ ในขณะเดียวกันเขาก็ยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับความคาดหวังในสังคมสมดุลระหว่างความคาดหวังของตัวเองและความคาดหวังจากสังคมได้ นอกจากนี้ตัวของเทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกคือการสื่อสารอย่างไรให้สมองส่วนหน้า (สมองส่วนเหตุผล) ของเด็กทำงาน ซึ่งถ้าเข้ามาเรียนในวิชานี้ก็จะรู้กระบวนการทำงานของสมอง เช่น เราพูดแล้วไปสะกิดสมองส่วนอารมณ์หรือเปล่า พูดแล้วสามารถทำให้เด็กควบคุมอารมณ์ได้ และสามารถใช้ EF คิดตามพ่อแม่ ครู ผู้เลี้ยงดูได้ อันนี้ก็จะเป็นเทคนิคการสื่อสารในเรื่องของเทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก อีกรายวิชาหนึ่งเป็นรายวิชาชื่อว่า “โปรแกรมส่งเสริมพัฒนาการเด็ก (Child Developmental Promotion Program)” ผู้เรียนเมื่อเรียนจบไปแล้วก็สามารถประเมินพัฒนาการได้ ซึ่งในวิชานี้เราจะปูแนวคิดว่าเรารู้จักพัฒนาการเด็กไปเพื่ออะไร อย่างไรก็ตามเรายังคงแนวคิดว่าไม่ว่าเราจะส่งเสริมเด็กให้มีพัฒนาการด้านอะไรก็ตาม อย่าลืมพัฒนาการด้านตัวตน การส่งเสริมทักษะสมอง EF เพราะฉะนั้นโปรแกรมที่จบจากวิชานี้ ผู้เรียนก็จะมีการสร้างโปรแกรมขึ้นมา ซึ่งจะเป็นโปรแกรมที่ดูพัฒนาการแบบองค์รวมของเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ พัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา และพัฒนาทักษะสมอง EF สำหรับรายวิชา “การส่งเสริม Executive Functions (EF) ในเด็กปฐมวัย” ในวิชานี้ก็จะเรียนในเรื่องของการทำงานของสมอง จิตใจ การดูพฤติกรรมของเด็ก และการสร้างตัวกิจกรรมตามหลักการทำงานของงทักษะสมอง EF เมื่อจบวิชานี้ ผู้เรียนก็จะมีหลักการ เช่น ถ้าเราสร้างกิจกรรม ขึ้นมากิจกรรมนี้จะส่งเสริม EF ของเด็กไหม หรือ ถ้าเราจะต้องเป็นคนตัดสินใจว่าเราจะใช้กิจกรรมอะไรในการที่จะส่งเสริมเด็ก เราก็จะใช้หลักการส่งเสริม EF ในการดูว่ากิจกรรมนั้นควรจะเพิ่มหรือลดอะไรเพื่อทำให้ EF ของเด็กได้ทำงานและส่งเสริมจริงๆ และรายวิชาสุดท้าย “รายวิชาสัมมนาพัฒนาการมนุษย์ (Seminar in Human Development)” วิชานี้จะประกอบไปด้วย 2 สิ่ง คือ หนึ่งการฝึกให้ผู้เรียนได้รู้จักการวิเคราะห์งานทางด้านวิชาการ ผู้สอนจะให้ผู้เรียนอ่านงานวิจัยหรือเข้าร่วมฟังงานวิชาการแล้วมาอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แล้วผู้สอนจะสอดแทรกหลักการให้ผู้เรียนรู้ว่างานวิจัยชิ้นไหนเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้ มีหลักการในการถามบทต่างๆ ของงานวิชาการในวงสัมมนาวิชาการ ถามอย่างไรให้ตรงจุดตรงประเด็น ฟังอย่างไรเพื่อวิเคราะห์งานวิจัยที่มาเข้าร่วมสัมมนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

Q: รูปแบบการเรียนการสอนเป็นอย่างไร

A: ส่วนใหญ่แล้วรูปแบบการเรียนการสอนจะเน้นในเรื่องของการอภิปราย เน้นการนำประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละท่านที่เข้ามาเรียนมาแลกเปลี่ยนร่วมกัน และมีการฝึกให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร และมีการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งในการลงมือปฏิบัติจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเป็นการลงมือปฏิบัติในทางวิชาการ คือการแสดงความคิดเห็นอย่างไร ให้ตรงจุดตรงประเด็น หรือการตั้งคำถามอย่างไรให้ได้คำตอบอย่างที่เราอยากได้ หรือการตั้งคำถามที่ไม่ไปจู่โจมคนอื่นมากเกินไป ส่วนที่สองจะเป็นการนำเทคนิคไปใช้จริง หรือการสร้างโปรแกรมก็จะต้องสร้างขึ้นมาจริงๆ แต่ทว่าอย่าพึ่งกลัวว่าเข้ามาเรียนแล้วจะสร้างโปรแกรมได้เลยหรือเปล่า เพราะการออกแบบการเรียนการสอนของอาจารย์จะเน้นแบบไปพร้อมกัน เช่น เรามีการออกแบบทั้งหมด 5 ขั้น เราไม่ได้ปล่อยให้ทุกคนไปทำให้เสร็จทั้ง 5 ขั้นตอนแล้วเอามาส่ง แต่ในแต่ละอาทิตย์เราจะไปกันทีละขั้นแล้วก็เอามาอภิปรายร่วมกัน และตัวบทบาทของอาจารย์จะเป็นเพียงแค่โค้ชในการดึงศักยภาพของผู้เรียนออกมา เช่น เราเห็นแล้วว่าผู้เรียนคนนี้มีศักยภาพมากเลย แต่ตัวของผู้เรียนเองแสดงออกมาเพียงเล็กน้อย อาจารย์ก็จะค่อยๆเสริมให้เขาคิดใหญ่เข้าไว้ ทั้งอาจารย์และเพื่อนที่เรียนร่วมกันจะพาเพื่อนทุกคนไปถึงเป้าหมายได้ และตัวผลงานที่ผู้เรียนสร้างขึ้นอาจารย์จะช่วยให้เขาสามารถนำไปใช้กับการทำงานในชีวิตจริงได้ด้วยและเกิดประโยชน์กับผู้อื่นได้จริง

 

Q: ทำไมทั้ง 5 รายวิชานี้จึงต้องมาอยู่ในหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์

A: ทั้ง 5 รายวิชานี้มีความสำคัญอย่างมากตรงที่ ทั้ง 5 รายวิชานี้จะเป็นตัวที่ปรับตัวนักพัฒนาการมนุษย์ไม่ได้มีเพียงแค่ทักษะอย่างเดียว แต่ปรับให้ตัวนักพัฒนาการมนุษย์มีกรอบแนวคิดเติบโต ให้มีตัวเจตคติที่ดีต่อการทำงานด้วยความเข้าใจ ด้วยความสุข เวลาที่เราอยู่ในวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง การที่เรารู้ว่าเป้าหมายของวิชาชีพนั้นคืออะไร เราควรจะมีเจตคติเป็นอย่างไรที่จะทำให้เราประสบผลสำเร็จในงานนั้นๆ อย่างผู้เลี้ยงดูเด็กหรือผู้ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เข้าใจอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องใช้เจตคติที่ดีต่อวิชาชีพของตัวเอง ต้องรู้ความสำคัญของงานตัวเองว่ามันสำคัญอย่างไร ซึ่งการเห็นความสำคัญของตัวเองและรับรู้ความสามารถของตัวเองจะทำให้เขาเป็นนักพัฒนาการมนุษย์ที่มีความสุขและก็สร้างความสุขให้ผู้อื่นได้ด้วยจากข้างในจริงๆ  นอกจากนี้ทั้ง 5 รายวิชานี้สอนให้ผู้เรียนนำความรู้ ไม่ใช่เพียงแค่นำไปพัฒนาคนอื่นอย่างเดียวท้ายที่สุดแล้วการดำเนินชีวิตของพวกเขา เราก็อยากให้เอาความรู้เหล่านี้มาทำความเข้าใจตัวเองและพัฒนาตัวเองให้ดีนั่นคือสิ่งที่วิชานี้มองเป็นเป้าหมายไว้

 

Q: ทั้ง 5 รายวิชานี้น่าสนใจอย่างไร

A: ความน่าสนใจของทั้ง 5 รายวิชานี้คือ ทุกคนที่เข้ามาเรียนส่วนใหญ่จะมองเห็นมุมมองของตนเองอันนี้คือความน่าสนใจที่ได้รับจากผู้เรียน ผู้เรียนคิดว่าตนเองไม่น่าจะมีความสามารถขนาดนี้และมาค้นพบความสามารถของตนเอง ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะสำคัญขนาดนี้ก็มาพบความสำคัญของตัวเอง สิ่งหนึ่งเลยที่อาจารย์บอกกับนักศึกษาเสมอ คือ เรามาเรียนและตัวอาจารย์เองไม่ได้เห็นเราเป็นแค่ลูกศิษย์แต่พวกเราทุกคนคืออนาคตคือคนที่จะไปพัฒนาเด็กๆ ที่เป็นอนาคตของชาติต่อไป

 

Q: ความท้าทายของทั้ง 5 รายวิชานี้คืออะไร

A: ความท้าทาย คือ ผู้เรียนจะเจอเรื่องจริง การทำงานจริง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกลุ่ม งานเดี่ยว เจอเคสจริง กรณีศึกษาที่พาลงไปทำจริงๆ เจอปัญหาอุปสรรคจริง และเมื่อผู้เรียนจบไปแล้ว ไปทำงานจริง พวกเขาจะเจอทั้งปัญหาอุปสรรคด้วยตัวเอง และที่สำคัญที่สุดก็คือผู้เรียนจะเจอตัวเอง นั่นคือความท้าทายที่สุดของตัวอาจารย์เองด้วย อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วข้างต้นว่าเป้าหมายของอาจารย์ที่ทั้ง 5 วิชานี้วางเอาไว้เพื่อที่จะเปลี่ยนผู้เรียนให้เป็นคนที่มีการรับรู้ความสามารถของตัวเองและนั่นก็คือความทท้าทายทั้งของตัวอาจารย์และผู้เรียน

 

Q: เรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง

A: ประกอบอาชีพเป็นตัวเอง ไม่ว่าผู้เรียนจะประกอบอาชีพหรือมีบทบาทอะไรก็ตาม ถ้าเป็นลูกก็จะเป็นลูกที่ดีขึ้นได้ เป็นพ่อแม่ก็จะเป็นพ่อแม่ที่ดีขึ้น มีปู่ย่าตายายเข้ามาเรียนก็จะเป็นปู่ย่าตายายที่ดีขึ้น นั่นก็คือบทบาทตามหมวดในครอบครัวของตัวเองจะดีขึ้น ถ้าอยู่ในสังคมเป็นเพื่อนก็จะเป็นเพื่อนที่ดีขึ้นได้ ในวิชาชีพทุกๆ วิชาชีพต้องการคนที่รู้จักศักยภาพของตัวเองและทำงานร่วมกับคนอื่นเป็น ดังนั้นเมื่อจบจากวิชานี้ไปแล้วคุณจะเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาแล้วจะไปประกอบอาชีพอะไรก็จะประกอบอาชีพนั้นๆ ได้ดีขึ้น จะเป็นเพื่อนร่วมงานที่มีอยู่จริงที่ดี จะเป็นนักวิชาชีพนั้นๆ ที่ดี เช่น ครูปฐมวัยก็จะกลายเป็นครูปฐมวัยที่แตกต่าง เพราะเขาจะรู้ว่าความสำคัญของเขาคืออะไร พยาบาลก็จะเป็นพยาบาลที่มีความเข้าใจในพฤติกรรมมากขึ้น และมีวิธีการสื่อสารที่ดีขึ้น    นักกิจกรรมบำบัดก็คือศาสตร์หนึ่งแต่พัฒนาการมนุษย์ท้ายที่สุดแล้วก็จะไปเสริมความสำคัญของตัวเองและนำความสำคัญของตัวเองไปใส่ในวิชาชีพของตัวเองเพื่อให้เกิดกับคนอื่น

 

Q: ใครควรมาเรียนหลักสูตรนี้บ้าง

A: ใครก็ตามอยากจะรู้ว่าถ้าเราจะพัฒนาตัวเองเพื่อไปพัฒนาคนอื่นนี่ละคะคือคนที่ควรจะเข้ามาเรียน

 

หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต

สาขาวิชาพัฒนาการมนุษย์ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)

งานบริการวิชาการ การศึกษาและเทคโนโลยี โทร. 02-441-0601-10 ต่อ 1509

ผู้สนใจเข้าศึกษาต่อ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.grad.mahidol.ac.th