Select Page

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดรายการเปิดบ้านศูนย์เด็กปฐมวัย นิวนอร์มอล -3 จัดกิจกรรมสนทนารายวัน และพัฒนาเป็นหลักสูตรออนไลน์ “ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยและอนุบาล New Normal ระลอก 3” จำนวน 42 ตอน  ครอบคลุมแนวทาง3 ประการในการเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของ covid 19 และการฟื้นฟูหลังการระบาดได้แก่
แนวทางที่ 1 การจัดการส่งเสริมการเรียนรู้และการดูแลสุขภาวะเด็กปฐมวัยไม่ให้ขาดความต่อเนื่องโดยใช้บ้านเป็นฐาน (home based early childhood education and care)ในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้การแพร่ระบาดของ COVID 19

แนวทางที่ 2 การเตรียมสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีระบบการเฝ้าระวังการติดเชื้อและมีการจัดการแบบชีวิตวิถีใหม่ (new normal)

แนวทางที่ 3 การเตรียมสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีความพร้อมรับเด็กที่มีความเครียดและภาวะบอบช้ำทางใจ (trauma informed education and care) อันเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรค covid-19

วัตถุประสงค์

    1. เพื่อขับเคลื่อนวัตถุประสงค์ข้อ 3-5 สู่ระดับนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรท้องถิ่น โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย
    2. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ และประสบการณ์จริง ในวัตถุประสงค์ข้อ 3-5 สู่ผู้ดูแลเด็กทุกประเภท ผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย และโรงเรียนอนุบาลในวงกว้าง
    3. เพื่อสร้างรูปแบบการจัดประสบการณ์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการดูแลสุขภาวะเด็กปฐมวัย โดยใช้บ้านเป็นฐาน (home based early childhood education and care)ในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้การแพร่ระบาดของ COVID 19
    4. เพื่อสร้างต้นแบบสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีระบบการเฝ้าระวังการติดเชื้อและมีการจัดการแบบชีวิตวิถีใหม่ (new normal) ภายใต้การแพร่ระบาดของ COVID 19 ที่เริ่มควบคุมได้บ้าง
    5. เพื่อสร้างต้นแบบสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีความพร้อมรับเด็กที่มีความเครียดและภาวะบอบช้ำทางใจ (trauma informed education and care) อันเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรค covid-19

การดำเนินงานดังกล่าวเป็นประเด็นชี้นำสังคม ดังนี้ 

1.สถานการณ์ปัญหา

กระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้และการดูแลเด็กปฐมวัย (early childhood education and care: ECEC) ต้องมีความต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงักตั้งแต่แรกเกิดถึง 8 ปี  การระบาดของ COVID 19 เป็นภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบวงกว้างในสังคมรวมทั้งเด็กปฐมวัย ทั้งก่อให้เกิดการเจ็บป่วยตายของเด็กและคนในครอบครัวของเด็ก ทำให้เด็กให้เกิดความรู้สึกสูญเสีย กลัว เครียด (stress) การควบคุมการระบาดของโรคด้วยการ lock down ทำให้เนอสเซอรี่ ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย และโรงเรียนอนุบาลต้องปิดทำการ ครอบครัวได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ระดับความเครียดในครอบครัวสูงขึ้น บางครอบครัวเกิดภาวะครอบครัวบกพร่อง (family dysfunction) เช่นการหย่าร้างแยกทาง ความรุนแรง เสพขายยาเสพติด ก่ออาชญากรรม สุขภาพจิตของผู้เลี้ยงดูผิดปกติ ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้กระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้และการดูแลเด็กปฐมวัยต้องหยุดชะงัก นอกจากนั้นยังเป็นปัจจัยทำให้เกิดการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม (maltreatment) ทั้งทางกายและอารมณ์ ซึ่งส่งผลตอให้พัฒนาการล่าช้า และส่งผลระยะยาวตลอดชีวิตได้

2.ประเด็นชี้นำสังคม

1) ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยหรือโรงเรียนอนุบาลและหน่วยงานสุขภาพในพื้นที่ต้องร่วมกันพัฒนากระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้และการดูแลสุขภาวะเด็กปฐมวัย โดยใช้บ้านเป็นฐาน (home based early childhood education and care) ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบออนไลน์ที่ถูกออกแบบให้เป็นการทำงานร่วมกันของ ครู บุคลากรด้านสุขภาพ ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กที่บ้าน และเด็ก เพื่อไม่ให้กระบวนการพัฒนาเด็กปฐมวัยขาดความต่อเนื่อง จากการ lock down ที่เนอสเซอรี่ ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย และโรงเรียนอนุบาลถูกปิดในปัจจุบัน และเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆในอนาคต

2) ในการฟื้นฟูหลังการระบาด ต้องกำหนดให้การติดเชื้อในเด็กปฐมวัยเป็น 0 เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดและเป้าหมายที่สำคัญของการควบคุมการระบาดในพื้นที่ เนื่องจากเด็กปฐมวัยเป็นบุคคลที่ไม่สามารถปฏิบัติการรักษาระยะห่าง .ใส่หน้ากากอนามัย และ universal precaution อื่นๆได้ด้วยตนเอง รวมทั้งไม่มีวัคซีนสำหรับเด็กปฐมวัย ดังนั้นเด็กปฐมวัยจะไม่ป่วย ไม่เป็นผู้กระจายเชื้อสู่ชุมชนและครอบครัวได้ก็ต่อเมื่อ คนในครอบครัว คนในชุมชนที่อยู่ล้อมรอบเด็กปฐมวัยได้รับวัคซีนและปฏิบัติตนตามหลัก universal precaution อย่างครบถ้วนแล้ว ดังนั้นทุกชุมชน โรงเรียน หรือศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยที่จะเปิดทำการต้องกำหนดมาตรการการรับวัคซีน 100% ของครู ผู้ดูแลเด็ก ผู้อยู่อาศัยในบ้านเดียวกับเด็ก มีระบบการเฝ้าระวังความเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง และระบบการเฝ้าระวังการติดเชื้อในเด็กโดยการตรวจ rapid antigen test

3) ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยและโรงเรียนอนุบาลต้องดำเนินการแบบชีวิตวิถีใหม่ (new normal) อย่างเคร่งครัด ทั้งการจัดการทางกายภาพ พฤติกรรมเด็กและผู้ดูแล และการออกแบบกิจกรรมการดูแลและการเรียนรู้ของเด็ก

4) ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยและโรงเรียนอนุบาลต้องเตรียมพร้อมรับเด็กที่มีความเครียดและภาวะบอบช้ำทางใจ (trauma informed education and care) อันเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรค covid-19 เนื่องด้วยเด็กบางคนอาจมีความกลัว มีภาวะ post-traumatic stress จากการเจ็บป่วยถูกแยก หรือพ่อแม่ผู้ดูแลถูกแยก หรือมีการสูญเสีย เด็กบางคนอาจตกอยู่ในการดูแลที่ไม่เหมาะสมจากพ่อแม่ผู้ดูแลที่มีความเครียดจากภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนที่ตกต่ำลง ครอบครัวที่มีความรุนแรง มีการเมาสุราหรือใช้สารเสพติดมากขึ้น หรือครอบครัวที่ก่ออาชญากรรม หรือมีภาวะสุขภาพจิตเสื่อมลง