หัวข้อข่าวสาร : มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร (เขตสุขภาพที่ 10) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ EF-สัญจรมุกดาหาร การจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะสมองการคิดเชิงบริหาร Brain Executive Function (EF) แก่ครู และนักวิชาการสาธารณสุข เพื่อสร้างทีม Training for Trainer นำไปขยายผลขับเคลื่อนพัฒนาทักษะ EF เด็กปฐมวัยอย่างต่อเนื่องช่วงการระบาดของโรค COVID-19
ภาพเด็กไทยที่ทุกคนอยากเห็นคือ มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง, เก่ง สามารถเรียนรู้ และแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ และดี โดยรู้จักแยกแยะถูกผิดชอบชั่วดี รวมทั้งมีความสุข มองโลกในแง่ดีและปรับตัวได้ยามเผชิญความเครียด ซึ่งทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนการคิดเชิงบริหาร (ทักษะ EF) ซึ่งเป็นการทำงานของสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) ที่เป็น CEO หัวหน้าของสมอง มีหน้าที่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงความจำเก่าและใหม่นำไปใช้ทำงานต่างๆ (Working Memory), การควบคุมตนเอง ยับยั้งชั่งใจ (Inhibitory Control) และมีความยืดหยุ่น ปรับตัวแก้ปัญหาได้เอง (Cognitive Flexibility) ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กไทยในศตวรรษที่ 21
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การพัฒนาครู นักวิชาการสาธารณสุข หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการในการดูแลเด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั่วประเทศให้มีองค์ความรู้ในทักษะสมอง EF ทั้งความหมาย พัฒนาการ สมองที่เกี่ยวข้อง ความสำคัญและการประเมินทักษะสมอง EF เด็ก รวมทั้งสามารถประเมินเพื่อนำไปสู่การส่งเสริมทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัยให้ดียิ่งขึ้นเต็มตามศักยภาพให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต จึงถือเป็นภารกิจหลัก และความเชี่ยวชาญของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร (เขตสุขภาพที่ 10 ) ริเริ่มจัด อบรมหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างทีม Training for Trainer ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function :EF เขตสุขภาพ 10) เป็นรุ่นแรก และจัดอบรมระหว่างวันที่ 17-18 เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งมีครู ผู้ดูแลเด็ก นักวิชาการสาธารณสุข ศึกษานิเทศ และพยาบาล จากจังหวัดมุกดาหาร อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ และศรีษะเกษ เข้าร่วม ถึง 50 คน ซึ่งทั้งหมดสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก “เครือข่ายการศึกษาต่อเนื่องเพื่อจัดการเรียนรู้และดูแลเด็กปฐมวัย” ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว โดยในปัจจุบันมีสมาชิกในเครือข่ายทั้งหมดประมาณ 30,000 คน ทั่วประเทศ เป้าหมายสู่การเพื่อการพัฒนาคนที่เป็นอนาคตของประเทศโดยเริ่มตั้งแต่เด็กปฐมวัยทุกคนทั้งเด็กปกติและเด็กกลุ่มเปราะบางในภาวะเสี่ยงให้เด็กไทยทุกคนได้ก้าวไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive Society) เป็นประโยชน์ในการเตรียมกำลังคนที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศ
ท่านธัชชัย ใจคง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) มีประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์ คือพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ว่า คนไทยในอนาคต จะต้องมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21
ดังนั้นการพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้น จึงมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างเรงด่วน ต่อเนื่อง เชื่อมโยง และบูรณาการ ร่วมกันของภาคีเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็ก เพื่อเตรียมความพร้อมและส่งต่อแต่ละช่วงวัยอย่างมีคุณภาพ เขตสุขภาพที่ 10 โดยคณะทำงานพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงได้สร้างทีม Training for Trainer เข้าร่วมอบรมครั้งนี้ เพื่อนำไปสร้างและขยายผลขับเคลื่อนพัฒนาทักษะ EF โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัยในทุกจังหวัดของเขตสุขภาพที่ 10 ให้เด็กปฐมวัยในวันนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีคุณภาพที่จะพัฒนาประเทศต่อไป
อาจารย์ ดร. นุชนาฎ รักษี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย หัวหน้าหลักสูตรการฝึกอบรมทักษะ EF กล่าวว่า หลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการ ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัยนั้นเน้นให้ผู้ที่ผ่านการอบรมตระหนักถึงความสำคัญของพัฒนาการด้าน EF กับความพร้อมทางการเรียนของเด็ก, เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความบกพร่องของ EF กับปัญหาพฤติกรรมในชั้นเรียน, การคัดกรองทักษะ EF เบื้องต้นเพื่อทราบสภาวะ EF เด็ก รวมทั้งได้เรียนรู้การทำกิจกรรมส่งเสริม EF ต้นแบบทั้ง 10 กิจกรรม และการประยุกต์ความรู้จากการอบรมไปใช้ออกแบบในการจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะ EF เด็กที่อยู่ในความดูแลทั้งที่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาลได้ นอกจากนั้นจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายครูแกนนำในการส่งเสริมทักษะ EF ในเด็กปฐมวัยท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในปัจจุบัน เพื่อสร้างเด็กปฐมวัยไทยวันนี้ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักคิด ปรับตัว และกำกับตนเองไปสู่ความสำเร็จ ความสุข และมีคุณภาพที่จะพัฒนาประเทศต่อไป