Select Page

สถาบันเด็กฯ ม.มหิดล ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย คณะแพทยศาสตร โรงพยาบาลรามาธิบดี มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย

terre des hommes และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

จัดเสวนา เรื่อง “สิทธิ ร่างกาย ความรัก และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก เรื่องที่พ่อแม่ยังไม่ค่อยรู้ (Child Grooming/ Sexual Abuse)”

ในวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 รูปแบบออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชัน “ZOOM”

 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า Child Maltreatment การเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ซึ่งแบ่งใหญ่ๆ ออกเป็น 5 กลุ่ม (1) การละเลยทางอารมณ์ (2) การละเลยทางกาย (3) การทำร้ายทางกายหรือการทารุณกรรมทางกาย (4) การทารุณกรรมทางอารมณ์ ดุ ตหวาด ไล่ หยาบคายกับเด็ก ขู่ให้เด็กกลัวมากๆ และ (5) ทำร้ายทางเพศ ทั้งหมดนี้มันมักจะเกิดร่วมกันเกิดอย่างหนึ่งก็มักจะมีอีกอย่างหนึ่งควบคู่กันอยู่ เวลาดูว่าเด็กคนไหนได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสมก็ต้องดูรอบด้าน ประเด็นที่สองก็คือ ปัญหานี้เพิ่มขึ้นในสังคมหรือไม่ มันมี 2 มิติ อันที่หนึ่งอันนี้ต้องยอมรับก่อนเลยว่าทั้ง 5 กลุ่มเพิ่มมากขึ้นแน่นอน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม มีผลกระทบทำให้ครอบครัวเปลี่ยนสถานะ จากครอบครัวใหญ่ที่ดูแลกันมีเวลาให้กันก็กลายเป็นครอบครัวที่แยกย่อยและขาดเวลาในการสร้างความสัมพันธ์กันและมีความบีบรัดทางเศรษฐกิจอีกหลายอย่าง โดยสถิติโดยรวมเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอนและทุกประเภท อีกอันคือการทารุณกรรมทางเพศ การทำร้ายทางเพศ ก็มากขึ้นด้วยเรื่องของสื่อหรือเรื่องของสิ่งกระตุ้นเร้าทั้งหลายอันนี้ก็มีส่วนทำให้เกิดมากขึ้น อีกมิติหนึ่งก็คือความมากขึ้นเนื่องจากสังคมเริ่มสนใจมีความไวต่อเรื่องนี้เราอาจจะคิดว่ามันอาจจะยังไปไม่ถึงจุดที่ดีที่สุดที่เราอยากจะให้เป็นแต่มันก็ดีขึ้น หลายปีที่ผ่านมาหลายองค์กรช่วยกันในการทำงานด้านนี้ สังคมก็รับรู้เพราะฉะนั้นการที่ไม่ยอมรับว่าอันนี้มันไม่เหมาะสมต้องรายงาน รวมทั้งโครงสร้างต่างๆ ขององค์กรต่างๆ ที่จะรับ hot line มีหน่วยงานลงไปช่วยเหลือและพิจารณาก็ต้องมากขึ้น ทำให้กรณีที่สมัยก่อนเรารู้สึกว่าช่างมันเถอะเป็นเรื่องของครอบครัว ก็ถูกจับขึ้นมาและถูกเอามาพิจารณากัน สถิติโดยรวมก็มากขึ้น แต่มันก็ยังไม่ดีที่สุดก็ยังมีกรณีที่ต้องถูกรายงานก่อนหน้านี้หลายกรณีก็ยังทิ้งไว้นานอยู่ มีคนพบเห็นตั้งหลายคนไม่ว่าจะเป็นสายวิชาชีพ ครัวเรือน หรือ เพื่อนบ้าน ก็ไม่รายงานจนกระทั่งเกิดผลเสียมากมาย เพราะฉะนั้นโดยภาพรวมก็จะเป็นอย่างที่ผมกล่าวมาข้างต้น อีกกรณีหนึ่งก็อยากจะยกตัวอย่างของกฎหมายมาตรา 277 ว่าด้วยเรื่องของการกระทำชำเรา ล่วงละเมิดทางเพศ ตัวนี้ก็จะเป็นตัวบ่งบอกว่า สังคมมีความไวมากขึ้น สมัยก่อนเขาบอกว่าการล่วงละเมิดทางเพศหรือการทำร้ายทางเพศต้องแบบสอดใส่เข้าไปผ่านเยื่อพรหมจรรย์ ตอนหลังมีการแก้ไขกฎหมายใหม่หมดเลย เพราะฉะนั้นกฎหมายมาตรา 277 เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จะสมยอมหรือไม่สมยอม ไม่ได้ทั้งหมด ประการที่สองใช้อวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดไปสัมผัสถูกอวัยวะเพศหรือทวารของเด็กเพื่อความใคร่ ก็มีความผิดเหมือนกัน ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่เราชี้ให้เห็นว่า สังคมเริ่มเปลี่ยนความรับรู้ในเรื่องนี้อย่างชัดเจน แม้ว่าบางทีขึ้นศาลพิจารณาอะไรกันแล้ว แต่อัยการบางท่านอาจจะบอกว่ามันไม่ค่อยชัดเจนเลยกฎหมายใหม่ เอากฎหมายเก่ากันก่อนดีกว่ามาวัดกันว่าเข้าไปลึกเท่าไหร่ การสัมผัสไม่รู้จะตัดสินอย่างไร แต่ในความเป็นจริงกฎหมายออกมาได้ดีมาก และบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงความรับรู้ของสังคม ดังนั้นการตีความว่าการเลี้ยงดูแบบใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไรก็อยากจะให้ฟังวันนี้กัน ต้องยอมรับเรื่องสิทธิส่วนบุคคลของแต่ละคนกันมากขึ้น

 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวต่ออีกว่า อย่างที่ผมได้เรียนว่ากฎหมายดีมากเลย กฎหมายบอกบอกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี สมยอม ไม่สมยอม อันนี้ก็มีความผิดทั้งสิ้น ดังนั้นแม้ว่าเด็กจะรู้สึกมีความสุขด้วยก็ถือว่าคนกระทำหลอก ถ้าต่ำกว่า 15 ปี ถือว่าคุณหลอกเขา เป็นการให้ของรางวัล เป็นการเหมือนว่าแสดงความรัก ก็เป็นการหลอกทั้งสิ้น ดังนั้นต้องมาดูพฤติกรรมว่าพฤติกรรมการสัมผัสนั้นเป็นการสัมผัสเพื่อความใคร่หรือไม่ ก็ต้องไปแยกกันตรงนั้นอีก ทีนี้ลักษณะแบบนี้ก็จะถูกรายงานหรือไม่ถูกรายงาน การที่ไม่ถูกรายงานอาจจะเป็นเพราะการตีความด้วยตัวผู้ดูแลเด็กเองว่าคนกระทำดูเหมือนเขากระทำด้วยความรัก แต่จริงๆ แล้วถ้าเราคิดให้ดีว่าผู้กระทำนั้นกระทำด้วยความใคร่หรือไม่มีการตอบสนองด้วยอารมณ์ทางเพศด้วยหรือไม่ จึงไม่เกี่ยวข้องกับการทารุณกรรม การทำให้เจ็บ หรือการทำให้เลือดออก อันนั้นต้องดูให้ดีว่าเป็นการตีความผิดหรือไม่ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเยอะมาก และการรายงานแม้จะอยู่ในระดับที่แม้จะดีขึ้นกว่าเดิมแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่เราควรจะยกระดับได้มากกว่านี้ ถ้าสังคมมีความเข้าใจกันมากขึ้น

 

ความเข้าใจผิด หรือว่ากฎหมายเขียนชัดเจน แต่ไปตีความผิดมันเกิดได้ทั้งผู้ดูแลเด็ก ผู้กระทำเอง หรือผู้รักษากฎหมาย ความเข้าใจดังกล่าวหรือผู้รักษากฎหมายหรือผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำตีความเหมือนชาวบ้านที่ไม่รู้ไม่พยายามทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น ไม่เป็นไร เรื่องเล็กน้อย ไม่มีความเสียหายอะไร หรือคุณครูเขาทำไปด้วยความเอ็นดู ทั้งๆ ที่แสดงออกถึงการตอบสนองต่อความใคร่ของตัวเองอย่างชัดเจน ก็อาจจะไปยืนยันว่าเขาทำด้วยความรักหรือไม่อยากจะไปดำเนินคดีกับเขา อันนี้ก็เป็นไปได้ของการตีความผิดของผู้ที่มีหน้าที่ไปรับผิดชอบ รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

อ.นพ.ฉัตรชัย อิ่มอารมย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลกระทบทางจิตวิทยาต่อเด็กที่โดนทารุณกรรม ถ้าถามว่าผลกระทบเกิดไหม ผลกระทบเกิดแน่ๆ คราวนี้จะเกิดได้แตกต่างกันไหมระหว่างคนในครอบครัว กับคนนอกครอบครัว ในเด็กเล็กๆ ส่วนใหญ่ที่เราเจอเคสการล่วงละเมิดจะเกิดจากคนใกล้ตัว ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพ่อแม่อย่างเดียว ที่เราเจอส่วนใหญ่มักจะเป็นเพศชายที่เข้ามาใหม่ในครอบครัว เช่น พ่อเลี้ยง ตาเลี้ยง ลุงเขย น้าเขย ภาษาอังกฤษเราเรียกว่า  Non-biological related male in family แล้วถามว่ามันจะต่างกันไหมกับการโดนล่วงละเมิดทางเพศจากคนในครอบครัวกับนอกครอบครัว อาจจะต่างกันนิดหน่อยเท่านั้น เนื่องจากเหตุที่เกิดมันจะเกิดในช่วงเวลาที่ต่างกัน เด็กส่วนใหญ่ถ้าเกิดในครอบครัวจะเกิดตั้งแต่ช่วงเด็กๆ เคสที่ผมเจอเป็นเด็กผู้ชายอายุประมาณ 6-7 เดือน มาตรวจด้วยเป็นหูดที่ก้น เนื่องจากเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และผู้กระทำคือสามีใหม่ของย่า ถามว่าผลกระทบมันจะเกิดอะไร ผลกระทบทางร่างกายก็ตั้งแต่โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ มันจะมีผลกระทบอีกอัน ไม่รู้ผมเข้าใจถูกหรือไม่ คือพยายามไม่พูดถึง ไม่เข้าใจ ไม่กล่าวถึงอะไรก็แล้วแต่ ผลกระทบทางจิตใจคือคิดว่าการไม่พูดถึง การไม่กล่าวถึงมันจะทำให้เงียบหายไป ปรากฏว่าไม่ใช่ ผลกระทบทางใจพวกนี้มันยาวถึงตลอดชีวิตของเด็ก ในคลินิกการดูแลเด็กที่ถูกทารุณกรรมที่รามาธิบดี เราเจอหลายครั้งที่คุณย่าคุณยายคุณน้าคุณป้าของครอบครัวเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมา แต่ผู้หญิงในครอบครัวถามย้อนกลับไปตอนเขาเด็กๆ ก็โดนมาเหมือนกันแล้ววันที่มาตรวจคุณป้าคุณน้าคุณยายก็มานั่งร้องไห้คือเป็นปมของเขาในชีวิตว่าเขารู้สึกว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่เลวร้ายมากๆ ในชีวิตของเขา และทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่มีความมั่นใจเหลือ มันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจความภาคภูมิใจของตัวเอง เขารู้สึกว่ามันเป็นตราบาปเป็นสิ่งที่เขาถูกย่ำยีหัวใจ ผลกระทบมันยาว คุณน้าคุณป้าคนนี้อายุประมาณ 50 ปี แต่พอมาสะกิดตรงนี้เล่าปุ๊บเขาร้องร้องไห้เยอะมาก เขารู้สึกว่ามันเป็นแผลในใจที่มันอยู่กับเขามานาน หลายครั้งที่เขานอนร้องไห้ตื่นขึ้นมากลางดึกยังกลัวอยู่ เขารู้สึกฝันร้ายถึงเรื่องนี้ก็ยังมี เพราะฉะนั้นผลกระทบมันยาวตลอดชีวิต แต่ถ้าได้รับการเยียวยาก็ดีขึ้น ดีขึ้นคือไม่มีผลข้างเคียง แต่ถามว่าเขารู้ไหมคือเขารู้และเขาจำได้

ACE เป็นผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ตอนเด็ก การโดนล่วงละเมิดทางเพศก็นับเป็นหนึ่งใน ACE ดังนั้นผลกระทบส่งผลในระยะยาว ทางจิต และทางอารมณ์ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางอื่นด้วย เมื่อสักครู่นี้ที่ผมเล่าว่าบ้านๆ นี้ มีการล่วงละเมิดทางเพศข้ามรุ่น บ้านนี้มีปัญหาอย่างอื่นด้วยคือการใช้สารเสพติด ตกงาน เรียนไม่จบ ป่วยเป็นโรคกันหลายโรค หลายคนอาจจะบอกว่ามันไม่เกี่ยวกันหรอกแค่บังเอิญ จริงๆ มันมีงานวิจัยแล้วครับว่ามันเกี่ยวข้องกัน ผมก็เจอด้วยตัวเองว่าคนไข้กลุ่มนี้มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ตอนเด็กแล้วมันส่งผลระยะยาวมาตลอดชีวิต อ.นพ.ฉัตรชัย กล่าว

 

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า การจับ การสัมผัส การถึงเนื้อถึงตัว ในลักษณะทางกายภาพที่จับต้องได้ มีความผิดถ้าเรากระทำในลักษณะที่แสดงออกถึงความใคร่ แต่ทีนี้การที่เป็นโลกออนไลน์บางทีมันผ่านกล้อง บางครั้งเด็กจับหรือสัมผัสตัวเอง ถอดเสื้ผ้า ทำท่าทำทางยั่วยวนเอง อย่างนี้คือรูปแบบมันเปลี่ยนไป อยากที่จะเน้นย้ำอย่างที่คุณหมออดิศักดิ์พูดแต่แรกแล้วว่าเราต้องตระหนักรู้ว่ารูปแบบของการละเมิดเด็กหรือการละเมิดทางเพศเด็กมันเปลี่ยนแปลงไป เราจะเอารูปแบบเอากรอบความคิดเดิมๆ แล้วบอกว่ามันยังไม่ได้จับ ยังไม่ได้ถึงเนื้อถึงตัวเด็ก ไม่ได้แล้ว ปัจจุบันมันมีอุปกรณ์ที่แบบว่าทำให้โดน เช่น ถุงมือผ่านเกมส์ที่อยู่ฝั่งนี้แต่ไปสัมผัสฝั่งโน้นได้เลย ซึ่งลักษณะการล่วงละเมิดทางเพศมันเปลี่ยนแปลงไป มาในรูปแบบออนไลน์ เช่น อย่างเด็กเล่นเกมส์บางคนใส่แว่นตาสามมิติ มีอุปกรณ์เชื่อมต่อที่ทำให้เรารู้สึก เพราะฉะนั้นการล่วงละเมินทุกวันนี้ก็จะผ่านกล้อง หรือถึงไม่ได้เชื่อมด้วยอุปกรณ์แต่บางครั้งผู้ร้ายก็จะโน้นน้าวชักจูงให้เด็กถอดเสื้อผ้ากระทำกับตัวเองหรือไปทำโชว์ เพราะฉะนั้นนิยามของการล่วงละเมิดทางเพศคือจะหมายถึงการสอดใส่โดยอวัยวะของอีกคนหนึ่งมันไม่ได้แล้ว ภาพวีดิโอที่เซฟเก็บไว้ก็จะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือมาทำร้ายเด็กอีกต่อไป คำว่า Grooming โดยภาษาไทยยังไม่มีคำที่ชัดเจนคำเดียว แต่ก็มีคำที่หลายคนใช้ เช่นการเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ หรือ การล่อลวงเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ เตรียมอย่างไร จริงๆ ถ้าจะดูทีละขั้นตอนมันมีประมาณ 4-5 ขั้นตอน

 

อันแรก คนที่คือผู้ร้ายหรือคนที่ล่อล่วงเด็กก็คือ groomer โดยที่ groomer จะเลือกเหยื่อก่อน เด็กคนไหนที่น่าจะหลอกง่าย ซึ่งเขาจะดูจากเด็กที่ไม่ค่อยมีเพื่อน เด็กที่มีปัญหาครอบครัว เด็กที่เหงา เด็กที่ไม่มีตัวตน เด็กที่แตกแยก คือเหมือนเขาต้องการความรัก ต้องการการยอมรับ ต้องการอยากจะได้เงินมาใช้จ่าย ซึ่งผู้ร้ายก็จะมองหาเด็กลักษณะนี้ที่มีจุดอ่อนที่จะเข้าไปเติมเต็มให้ได้ ถ้าทางออนไลน์ผู้ร้ายก็จะมามองหาเด็กคนไหนที่จะมาพร่ำเพ้อบนโลกออนไลน์ เพราะฉะนั้นการใช้สื่อโซเซียลมีเดียที่เปิดเผยตัวตนให้ข้อมูลไปเยอะๆ อารมณ์ส่วนตัว ปัญหาส่วนตัว ที่ตัวเองประสบก็จะตกเป็นเหยื่อได้ง่าย เมื่อเขาเลือกเหยื่อเสร็จเขาก็จะเข้ามาพูดคุยตีสนิท พูดจาดูเห็นอกเห็นใจ เพื่อให้เด็กเชื่อใจและไว้วางใจเห็นเราเป็นเพื่อน ผ่านแชต ผ่านคอมเม้น ผ่านการส่งของให้ทางไปรษณีย์ การกดไลน์ กดว้าว สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คนร้ายจะเติมให้ พอเติมไปเติมมาก็อาจจะมีการให้ดูสื่อลามกหรือพูดคุยเรื่องเพศกับเด็กผ่านช่องทางออนไลน์แบบส่วนตัว เป็นการเตรียมของคนร้ายที่จะทำให้เด็กรู้สึกว่าเรื่องเซ็กส์กับผู้ใหญ่เป็นเรื่องปกติเพื่อพอวันหนึ่งที่เขาสบโอกาสเขาก็จะสามารถล่วงเกินเด็กได้ เช่น ชวนไปเที่ยวบ้าน ดูหนัง ฟังเพลง ขั้นตอนสุดท้ายหลังจากที่ละเมิดเด็กแล้วพวกนี้ส่วนใหญ่จะพยายามรักษาสัมพันธภาพตรงนี้ไว้ เพื่อที่จะได้ละเมิดเด็กเรื่อยๆ การรักษาสัมพันธภาพกับเด็ก เช่น การข่มขู่ การให้ของขวัญ เป็นต้น อันนี้คือลักษณะของการ grooming ซึ่งช่องทางออนไลน์ก็ถูกใช้เยอะมากในการสร้างสัมพันธ์และการเข้าหาเด็ก หรือบางครั้งคนร้ายก็เข้าหาเด็กผ่านทางครอบครัว เช่น การเป็นผู้มีพระคุณให้ทุนการศึกษาแก่เด็ก หรือช่วยติวหนังสือให้ เป็นต้น groomer ก็จะมีในหลายรูปแบบ มีทั้งแบบที่เปิดเผย และมีทักษะในการเข้าหาเด็ก มาในลักษณะของคนที่เด็กเคารพ ดังนั้นพ่อแม่ควรที่จะต้องดูแลเด็กเมื่อเด็กใช้สื่อว่าลูกคุยกับใครอะไรอย่างไร

 

 

คุณวาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย กล่าวว่า การที่เด็กถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ เป็นกรณีที่มีการแจ้งเหตุมากที่สุด ในยุคที่มีสื่อออนไลน์ ซึ่งสื่อออนไลน์เป็นเหมือนสะพานเชื่อม พอเชื่อมได้แล้วปลายทางจะเป็นเรื่อง sexual abuse แต่ทุกวันนี้ระหว่างอยู่บนสะพานเชื่อมนี้ก็มีการถูกอัดคลิป เพื่อใช้ในการข่มขู่ ดังนั้นประเทศไทยมี พรบ. คุ้มครองเด็ก ซึ่งมาตราที่ 23 เป็นหัวใจที่สำคัญ โดยมาตรา 23 ว่าด้วย ผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนและพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตน ตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่ามาตราฐานขั้นต่ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งผู้ปกครองต้องมีศักยภาพและปฏิบัติตาม ดังนี้ (6) สร้างความรู้และความเข้าใจในขอบเขตระหว่างตนเองและผู้อื่นของเด็ก ได้แก่ ขอบเขตทางกาย จิตใจ และสังคม และการเป็นแบบอย่าง เช่น การฝึกให้เด็กรู้จักการรอคอยให้เหมาะสมตามวัย การสอนให้รู้จักการปฏิเสธการสัมผัสร่างกาย และ การสอนให้รู้จักปกป้องสิทธิส่วนตัวของตน และเคารพสิทธิส่วนตัวของผู้อื่น การสัมผัสสำหรับเด็กเล็กเป็นเรื่องที่ดีทำให้เขารู้สึกถึงความอบอุ่น ดังนั้นทางมูลนิธิได้จัดทำคู่มือกิจกรรมตัวฉันเป็นของฉัน เพื่อให้เด็กได้รู้และมีทักษะเกี่ยวกับการรับและปฏิเสธ โดยสามารถดาวน์โหลดคู่มือได้ที่ www.feelingyesnothailand.com

อ.นพ.ฉัตรชัย อิ่มอารมย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พ่อแม่ต้องสอนเรื่องเพศกับลูก แต่จะเริ่มสอนเมื่อไหร่ พ่อแม่ต้องเริ่มสอนโดยเอาตั้งแต่เรื่องร่ายกายของตัวเขาเองก่อน ถ้าลูกเริ่มที่จะมีพัฒนาการเริ่มที่จะเข้าใจภาษาได้เริ่มสอนเขาได้ตั้งแต่แรกๆ เลย ว่าตรงนี้ห้ามใครจับนะ ถ้ามีใครจับต้องมาบอกพ่อแม่นะ แล้วเมื่อไหร่ละที่พ่อต้องเริ่มถอยตัวเองออกมา อันนี้ก็ไม่ได้มีตัวเลขชัดๆ  ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเด็กแต่ละคน หรือพ่อแม่ควรเริ่มสอนตอนที่เขาห่างตาพ่อแม่แล้ว หรือประมาณช่วงอนุบาล 2 หรือ อนุบาล 3 เป็นต้น

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวสรุปว่า เราจะเห็นว่าทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก และความพยายามที่จะล่วงละเมิดกับเด็กมีหลายรูปแบบ ก็อยากจะฝากพ่อแม่ ครู หรือผู้ดูแลเด็กให้ความสนใจหาความรู้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อมาดูแลเด็ก และอยากจะฝากให้ช่วยกันเรียกร้องหน่วยงานที่รับผิดชอบ กฎหมายที่ออกมาใหม่ให้ทันท่วงทีกับการล่วงละเมิดเด็ก

เสวนาเรื่อง “สิทธิ ร่างกาย ความรัก และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก เรื่องที่พ่อแม่ยังไม่ค่อยรู้ (Child Grooming/ Sexual Abuse)” ทางสถาบันเด็กฯ ม.มหิดล ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และมูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก ตั้งใจจัดขึ้นมาเพื่อเป็นเวทีกลางให้กับบุคลากรทางการศึกษา ผู้ทำงานด้านเด็ก นักวิชาการ นักปฏิบัติ ผู้ปกครอง สื่อมวลชน รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อเรื่อง Child Grooming ตลอดจนนำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อพัฒนา คุ้มครอง และปกป้องเด็กในที่สุด และตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs เป้าที่ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม   เป้าที่ 5 ความเท่  าเทียมทางเพศ เป้าที่ 6 ลดความเหลื่อมล้ำ และเป้าที่ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรมไม่แบ่งแยก