Select Page

ประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาการเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก

และการประเมินทักษะสมอง การเรียนรู้

เพื่อออกแบบการส่งเสริมเด็กและการวิจัย”

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) : สาขาวิชานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก

สถาบันเด็กฯ ม.มหิดล


 July 13, 2020

อาจารย์ ดร. นุชนาฎ รักษี

อาจารย์

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เรียบเรียง: ธีรารัตน์ สองเมือง

ภาพถ่าย: ธีระชัย แต่เจริญ

ศิลปกรรม: เพลินพิศ แสงเหลา

 

” ประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาการเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก และการประเมินทักษะสมอง
การเรียนรู้ เพื่อออกแบบการส่งเสริมเด็กและการวิจัย ”
เป็นรายวิชาที่มุ่งเน้นการศึกษาถึงความเชื่อมโยงของพัฒนาการทางด้านสมอง จิตใจ และพฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์ รวมทั้งการประเมินทักษะสมอง สติปัญญา การเรียนรู้ของเด็ก ผลลัพธ์เพื่อให้นักศึกษาบูรณาการองค์ความรู้ดังกล่าวมาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สู่การพัฒนาและคุ้มครองเด็กในศตวรรษที่ 21”

วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์ดีๆ จากอาจารย์ ดร. นุชนาฎ รักษี

อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว

มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกันค่ะ

 

 

Q: อาจารย์สอนรายวิชาอะไรบ้าง ในหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก

A: รายวิชาที่อาจารย์รับผิดชอบหลักๆ มีอยู่ 2 รายวิชา ได้แก่ ประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาการเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก และการประเมินทักษะสมอง สติปัญญา การเรียนรู้ เพื่อออกแบบการส่งเสริมเด็กและการวิจัย

 

Q: รายวิชา “ประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาการเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก และการประเมินทักษะสมอง สติปัญญา การเรียนรู้ เพื่อออกแบบการส่งเสริมเด็กและการวิจัย” ทั้ง 2 รายวิชาดังกล่าวเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

A: “รายวิชาประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาการเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก” เป็นการเรียนการสอนแนวแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Learn and Share ในเรื่องประสาทวิทยาศาสตร์เชิงบวกสำหรับการพัฒนาแบบองค์รวมของ สมอง จิตใจ ร่างกาย บุคลิกภาพ พฤติกรรม ประสาทวิทยาศาสตร์ของความสุข สติ ความเห็นอกเห็นใจ คุณธรรมจริยธรรม ความเพียรและความยืดหยุ่น ประสาทวิทยาศาสตร์การศึกษาเพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประสาทวิทยาศาสตร์ของความสมดุลย์ระหว่างชีวิตทำงานและชีวิตครอบครัว ความสัมพันธ์ของสมองและดนตรี สถาปัตยกรรมสมองและความเครียดที่เป็นพิษ ผลกระทบตลอดชีวิตที่เกิดจากประสบการณ์วัยเด็กที่ไม่พึงประสงค์ กระบวนการเหนือพันธุกรรม การสร้างสมองที่ยืดหยุ่นและพัฒนาเด็กให้มีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนรูป การสร้างสภาพแวดล้อมและชุมชนที่สนับสนุน ในส่วนของ “การประเมินทักษะสมอง สติปัญญา การเรียนรู้ เพื่อออกแบบการส่งเสริมเด็กและการวิจัย” นักศึกษาจะได้เรียนรู้และใช้แบบประเมินทักษะด้านสติปัญญา การเรียนรู้ จิตวิทยา รวมทั้งทักษะสมองขั้นสูงการคิดเชิงบริหาร การประเมินพัฒนาการด้านอารมณ์ สังคม และพฤติกรรม ทักษะการสัมภาษณ์ การสังเกต การทดสอบ ลงมือปฎิบัติการใช้เครื่องมือในการประเมินเด็ก เพื่อนำไปสู่การออกแบบกระบวน กิจกรรม หรือโปรแกรมในการส่งเสริมเด็กแต่ละคนได้ตรงจุด รวมทั้งออกแบบการศึกษาวิจัย

Q: ทำไมจึงต้องมี “รายวิชาประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาการเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก และรายวิชาการประเมินทักษะสมอง การเรียนรู้ เพื่อออกแบบการส่งเสริมเด็กและการวิจัย” อยู่ในหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็กด้วย

A: “รายวิชาประสาทวิทยาศาตร์พัฒนาการเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก” รายวิชานี้เน้นในเรื่องของพัฒนาการของสมองตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ระบบการทำงานของสมองในส่วนต่างๆ ที่มีการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน สมองมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงได้ Neuroplasticity และสามารถฟื้นฟูให้ดีขึ้นได้ เช่น เด็กที่เคยได้รับประสบการณ์เลวร้ายในอดีต เมื่อได้รับการปกป้องให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาผ่านกิจกรรมประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี นอกจากนี้ ในรายวิชานี้ยังมุ่งเน้นให้เข้าใจในเรื่องของทักษะสมองขั้นสูงการคิดเชิงบริหาร (Brain Executive Function – EF) คือความสามารถที่เด็กจะนำประสบการณ์ในอดีตและปัจจุบันมาเชื่อมกันเพื่อเป็นข้อมูลในการคิด วิเคราะห์วางแผน ตัดสินใจ ลำดับความสำคัญ ริเริ่มลงมือได้เอง ควบคุมตัวเองทำงานให้เสร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อเจอปัญหาสามารถปรับตัว คิดแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ รับมือและอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกได้ ผู้เรียนสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพเด็กในศตวรรษที่ 21 ได้ สำหรับ “การประเมินทักษะสมอง การเรียนรู้ เพื่อออกแบบการส่งเสริมเด็กและการวิจัย” ผู้เรียนจะได้เรียนรู้และลงมือปฎิบัติจริงในการวัดประเมินทักษะสมอง สติปัญญา และการเรียนรู้ในเด็ก ทำให้ทราบต้นทุนความสามารถของเด็ก เพื่อนำไปสู่ศักยภาพที่สูงขึ้นในเด็กที่ดีอยู่แล้ว ส่วนเด็กที่มีปัญหา มีความบกพร่อง ก็จะสามารถฟื้นฟูและพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างตรงจุด ทันท่วงทีให้เติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่มีศักยภาพของประเทศต่อไป

Q: ทั้ง 2 รายวิชาดังกล่าวข้างต้นมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง

A: ทั้ง 2 รายวิชามุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความเชื่อมโยงของพัฒนาการทางด้านสมอง จิตใจ และพฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์ รวมทั้งลงมือปฎิบัติจริงในการประเมินทักษะสมอง สติปัญญา การเรียนรู้ของเด็ก ผลลัพธ์เพื่อให้ผู้เรียนสามารถบูรณาการองค์ความรู้ดังกล่าว มาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆในการพัฒนาทักษะสมอง การเรียนรู้ รวมทั้งผู้เรียนสามารถปรับเปลี่ยน ประยุกต์ใช้กับเด็กในบริบทที่แตกต่างกันได้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและคุ้มครองเด็ก

 

Q: ความท้าทายของทั้ง 2 รายวิชาดังกล่าวข้างต้นคืออะไร

A: ความท้าทายอันดับ 1 ก็คงจะเป็นความท้าทายของอาจารย์ผู้สอนที่นอกจากจะให้ความรู้แก่ผู้เรียนแล้วอาจารย์ผู้สอน จะต้องจุดประกายไฟให้ผู้เรียนเกิดแรงบันดาลใจและท้าทายตนเองที่จะคิดริเริ่มในการสร้างสรรค์นวัตกรรม                 ความท้าทายที่ 2 คือให้ผู้เรียนท้าทายตนเองลงมือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆจากการบูรณาการความรู้ที่เรียนรู้มา และความท้าทายที่ 3 คือผู้เรียนต้องสามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมในการฟื้นฟูและพัฒนาเด็กที่อยู่ในบริบทต้นทุนความสามารถของเด็กแต่ละคน สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของโลกและพื้นที่ที่แตกต่างกันในสังคม ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพของประเทศต่อไป

 

Q: ใครคือกลุ่มผู้เรียนที่เป็นเป้าหมายของหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก

A: หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้สนใจทั่วไป ทุกสาขาอาชีพ และทุกระดับการศึกษา เพราะทุกคนที่สนใจในหลักสูตรนี้สามารถลงเรียนได้ หลักสูตรนี้ทางสถาบันฯ ตั้งใจเปิดในรูปแบบที่ผู้เรียนเรียนแล้วสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท บุคคลทั่วไปที่สนใจเรียนเก็บหน่วยกิตไว้ได้ หรือได้รับประกาศนียบัตร ความรู้ ซึ่งผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ในการพัฒนาและคุ้มครองเด็กในศตวรรษที่ 21

 

 

หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก

(ภาคปกติและภาคพิเศษ)

งานบริการวิชาการ การศึกษาและเทคโนโลยี โทร. 02-441-0601-10 ต่อ 1510 หรือ 087-266-1054

ผู้สนใจเข้าศึกษาต่อ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://cf.mahidol.ac.th/th/?page_id=6472