จากผลการสำรวจของโครงการ MICS5 ในปี พ.ศ. 2559 มีเด็กอายุ 3-4 ปี ร้อยละ 84.7 กำลังเรียนในหลักสูตรปฐมวัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ครอบครัวมีการส่งเสริมเด็กให้เข้าเรียนตั้งแต่ปฐมวัย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ และเตรียมความพร้อมมากขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้มักไม่ครอบคลุมกลุ่มเด็กพิเศษ เด็กพิการ รวมทั้งกลุ่มเด็กเปราะบางทางสังคมที่ไม่ได้อยู่ในการสำรวจ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรมีการจัดกระบวนการดูแลสุขภาวะและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ การศึกษาของ Isaranurug S และคณะ ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาของ มารดา รายได้ครอบครัว ภาวะวิกฤตในครอบครัว และการอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดา มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการเด็กอายุ 1-5 ปี
ท่ามกลางสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของเด็กและเยาวชนที่มีความเปราะบาง พบว่า ปัจจุบันการจัดบริการสาธารณะเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนที่มีความเปราะบางหรือที่มีความต้องการพิเศษยังขาดกลไกและบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กกลุ่มนี้ และขาดมาตรฐานในการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษด้านการเรียนรู้เหล่านี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางวิชาการ ในการให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่เป็นช่องว่างในการยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษด้านการเรียนรู้
จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า มีเด็กปฐมวัยในกรุงเทพมหานคร อายุ 3-5 ปี ที่อยู่นอกระบบการศึกษา (ไม่ได้เข้ารับบริการในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย) จำนวนกว่า 13,000 คน ซึ่งยังไม่ได้รวมประชากรแฝง ได้แก่ เด็กปฐมวัยที่ติดตามครอบครัวเข้ามาอยู่อาศัยและประกอบอาชีพใน กทม. ดังนั้น หากเราค้นหา คัดกรอง และสามารถนำเด็กกลุ่มดังกล่าว กลับเข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ของ กทม. จะช่วยเตรียมความพร้อมและลดอัตราการไม่เข้าศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้เป็นอย่างมาก
ดังนั้น สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ร่วมกับ สำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกรุงเทพมหานคร จึงได้พัฒนา โครงการการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบ ในกรุงเทพมหานคร ที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการสำรวจ ค้นหา คัดกรอง และให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาอุปสรรคในการเข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ของครอบครัวยากจน ทั้งที่มีเด็กปฐมวัยที่กำลังรับบริการอยู่ หรือยังไม่ได้เข้ารับบริการ (เด็กปฐมวัยนอกระบบการศึกษา) ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของผู้ดูแลเด็ก – ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยใน กทม. ได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนต่อในระดับประถมศึกษา สนับสนุนให้มีอัตราการเรียนต่อในระดับประถมศึกษาเพิ่มมากขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพอีกด้วย
SDGs หลักที่สอดคล้องกับกิจกรรม : | SDG4 เป้าประสงค์ย่อย : 4.2 |
SDGs อื่นๆที่สอดคล้อง : | SDG17 เป้าประสงค์ย่อย : 17.14 |