โครงการคลินิกพัฒนาการเด็กต้นแบบ และ การศึกษาผลการส่งเสริมเด็กพัฒนาการล่าช้า เด็กออทิสติกด้วยโปรแกรมไทย (THAI Model, Thai Home-based Autism Intervention Model)

ชื่อMU-SDGs Case Study:
โครงการคลินิกพัฒนาการเด็กต้นแบบ และ การศึกษาผลการส่งเสริมเด็กพัฒนาการล่าช้า เด็กออทิสติกด้วยโปรแกรมไทย (THAI Model, Thai Home-based Autism Intervention Model)
ส่วนงานหลัก:
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
ส่วนงานร่วม:
ผู้ดำเนินการหลัก:
ผศ.พญ. แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ
ผู้ดำเนินการร่วม:
ผู้ช่วยนักวิจัยในพื้นที่ คุณพัชรินทร์ แดงดี คุณน้ำผึ้ง ก่อเปี่ยม โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ คุณจุฑามาศ เหล่าไพบูลย์ คุณธีรวัฒน์ อินตุ่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย คุณสุธาดา สอนเนียม คุณอานนท์ วงษา โรงพยาบาลแม่ระมาด จังหวัดตาก คุณเสาวลักษณ์ หมื่นเพชร คุณพิมพ์ชนก ไชยวัน โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คุณนงนุช ศิริศักดิ์ คุณศุภิดา ลี้มิ่งสวัสดิ์ โรงพยาบาลพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
คำอธิบาย:
เพื่อศึกษาผลของการคัดกรองและส่งเสริมเด็กพัฒนาการล่าช้าและเด็กออทิสติกด้วยโปรแกรมไทย (THAI Model) และ เพื่อศึกษาจุดแข็งของชุมชนประเทศไทย โปรแกรม THAI Model ประกอบด้วย คือ 1) กิจกรรม Coaching พ่อแม่และส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 2) โปรแกรมการส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่บ้าน 3) กิจกรรรมห้องเรียนพ่อแม่

ออทิสติกมีสาเหตุจากพันธุกรรมที่ส่งผลให้เกิดความบกพร่องของสมองและระบบประสาท การแก้ไขความบกพร่อง ต้องอาศัยหลักการทางสมองและระบบประสาท Neuroplasticity หรือ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนของสมอง มีองค์ประกอบที่เป็นหลักสำคัญ คือ การเริ่มกระตุ้นพัฒนาการตั้งแต่อายุยังน้อย รูปแบบ วิธีการที่ตรง มุ่งเป้าไปที่ความบกพร่องหลักของโรค และ สมองตื่นตัวพร้อมเรียนรู้ คือ เด็กรู้สึกสนุก สนใจ ชอบ ร่วมกับความถี่ ความสม่ำเสมอในการส่งเสริมพัฒนาการ

วัตถุประสงค์การวิจัย

  1. เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการคัดกรอง และส่งเสริมเด็กพัฒนาการล่าช้า เด็กออทิสติก ด้วยโปรแกรมไทย โดยเปรียบเทียบจากการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการเด็ก และ เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของพ่อแม่ ก่อนและหลังใช้โปรแกรมไทย
  2. เพื่อศึกษาจุดแข็งของชุมชนประเทศไทย ในการดูแลเด็กพัฒนาการล่าช้า เด็กออทิสติก

ระเบียบวิธีวิจัย เป็นแบบผสานวิธี โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ดูแลหลัก รูปแบบการวิจัยกึ่งทดลอง ทดสอบก่อนและหลัง

ผลลัพธ์หลัก คือ พัฒนาการอารมณ์สังคม (Functional Emotional Assessment Scale, FEAS) และทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก (I-CARE)  ผลลัพธ์รอง คือ พัฒนาการเด็กปฐมวัย 5 ด้าน (DSPM) และ ความเครียดของพ่อแม่ (PSI) วิธีการเก็บข้อมูล FEAS และ I-CARE โดยบันทึกภาพวีดีทัศน์ผู้ดูแลเล่นกับเด็ก เป็นเวลา 15 นาที/คลิป ช่วงก่อน และหลังเข้าร่วมโครงการ ประเมินโดยวิธี Blinded Ratings แบบประเมิน DSPM และ PSI เก็บข้อมูลและประเมินผล โดยบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่

THAI Model ประกอบด้วย 3 กระบวนการหลัก คือ 1) การ Coaching ผู้ดูแลในคลินิกพัฒนาการเด็ก 2 ครั้ง/เดือน หรือ เยี่ยมบ้าน 2) การส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่บ้านตามหลัก I-CARE อย่างน้อย 10 ชั่วโมง/สัปดาห์ (หรือ 1 1/2 ชั่วโมง/วัน) และ 3) กิจกรรมห้องเรียนพ่อแม่ทุก 2-3 เดือน

พื้นที่ศึกษา โรงพยาบาลจาก 5 ภูมิภาค ของประเทศไทย ผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นเด็กอายุ 1-4 ปี จำนวน 46 คน ที่สงสัยภาวะออทิสติก (DSPM ล่าช้า + MCHAT-R พบความเสี่ยง)

ผลการวิจัย พบว่าสัดส่วนของเด็กที่ผ่านการคัดกรอง (DSPM และ M-CHAT-R) จำนวน 46 คน ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะออทิสติกจำนวน 26 คน หรือ คิดเป็น 56%

ผู้ดูแลเด็กทั้ง 46 ครอบครัว มีค่าเฉลี่ยทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก (I-CARE) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Meandiff = 4.4, p = .000) และค่าเฉลี่ยความเครียดของผู้ดูแล (PSI) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Meandiff = 9.8, p = .000)

พัฒนาการเด็กทั้ง 46 คน พบว่า ค่าเฉลี่ยพัฒนาการอารมณ์สังคมของเด็ก (FEAS) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Meandiff = 3.2 p = .004)  และ ผลการประเมินพัฒนาการ (DSPM) พบว่า มีเด็กที่ผ่านการคัดกรองตามช่วงวัยจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (z = 6.12, p = .008)

ผลการวิเคราะห์เฉพาะในกลุ่มเด็กออทิสติก 26 คน พบว่าผู้ดูแลมีทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ค่าเฉลี่ยพัฒนาการอารมณ์สังคมเด็กดีขึ้น แต่ไม่พบนัยสำคัญทางสถิติ โดยพบว่ามีผู้ดูแลเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่สามารถให้เวลาอย่างสม่ำเสมอ ในการลงมาเล่นกับเด็กเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ

จุดแข็งของชุมชนประเทศไทย ในการดูแลเด็กพัฒนาการล่าช้า เด็กออทิสติก พบว่าครอบครัวส่วนใหญ่ในสังคมต่างจังหวัดยังคงอยู่กันแบบเป็นครอบครัวใหญ่ ทำให้มีเวลาช่วยกันดูแลเด็ก มีสัมพันธภาพที่ดีในชุมชน นอกจากนั้นการทำงานกับเครือข่ายในพื้นที่ สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ มิตรภาพในชุมชน ยังเป็นส่วนสำคัญในการเสริมพลังพ่อแม่

สรุป โปรแกรมไทยแสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการส่งเสริมพัฒนาการเด็กพัฒนาการล่าช้า เด็กออทิสติก งานวิจัยนี้พบว่าทักษะผู้ดูแล และพัฒนาการเด็กดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในส่วนครอบครัวเด็กที่มีภาวะออทิสติกพบว่าความถี่ในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กยังไม่มากพอ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสมองและระบบประสาท

 

SDGs หลักที่สอดคล้องกับกิจกรรม :
SDG3     เป้าประสงค์ย่อย :   3.d
SDGs อื่นๆที่สอดคล้อง
โปรดป้อนเลือกกลุ่ม, ชื่อและคำบรรยาย เพื่อใช้ในการแสดงผลเนื้อหาในหน้ารวมข้อมูลทั้งหมดของเมนูนี้บนเว็บไซต์ของคุณ
SDGs อื่นๆที่สอดคล้อง :
SDG4     เป้าประสงค์ย่อย :   4.a
Key Message

โปรแกรมสำหรับการส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กทุกกลุ่มโดยเฉพาะเด็กออทิสติก ที่เน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ดูแล เน้นความผาสุขของครอบครัว เน้นพัฒนาการอารมณ์สังคมของเด็ก ที่สำคัญพ่อแม่สามารถกลับไปส่งเสริมพัฒนาการลูกที่บ้านเองได้

Links ข้อมูลเพิ่มเติม
โปรดแนบลิงค์ที่เกี่ยวข้อง (อย่างน้อย 1 link)
URL: