บั้นปลายมีเงินใช้ กาย-ใจ-สมองดี : บทเรียนการดำเนินชีวิตคุณภาพของผู้สูงอายุกลุ่มที่มีรายได้น้อย-ปานกลางในประเทศไทย

ชื่อMU-SDGs Case Study:
บั้นปลายมีเงินใช้ กาย-ใจ-สมองดี : บทเรียนการดำเนินชีวิตคุณภาพของผู้สูงอายุกลุ่มที่มีรายได้น้อย-ปานกลางในประเทศไทย
ส่วนงานหลัก:
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
ส่วนงานร่วม:
ผู้ดำเนินการหลัก:
รองศาสตาจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
ผู้ดำเนินการร่วม:
คำอธิบาย:
บั้นปลายมีเงินใช้ กาย ใจ สมองดี เชื่อมโยงเป็นลูกโซ่ จากคนวัยทำงานตั้งเป้าหมายชีวิต ดูแลสุขภาพ การออมเงินต่อเนื่อง การลงทุนกับบุตร การสนับสนุนทางสังคม และสุขภาพจิตที่ดี ส่งผลให้เมื่อเป็นผู้สูงอายุ บุตรและเงินที่ออมไว้จะกลายเป็นสินทรัพย์

การศึกษาแผนการวิจัย “บั้นนปลายมีเงินใช้ กาย-ใจ-สมองดี : บทเรียนการดำเนินชีวิตคุณภาพของผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีรายได้น้อย-ปานกลางในประเทศไทย” ประกอบด้วย 2 โครงการวิจัยย่อย อันได้แก่ 1) โครงการบั้นปลายไม่ไร้เงิน: บทเรียนการดำเนินชีวิตคุณภาพ ของผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีรายได้น้อย-ปานกลางในประเทศไทย ที่มุ่งเน้นถึงวิธีคิดการดำเนินชีวิตที่มีอยู่บนแบบแผนทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และ 2) โครงการสูงวัย กาย-ใจ-สมองดี: บทเรียนการดำเนินชีวิตคุณภาพ ของผู้สูงอายุกลุ่มที่มีรายได้น้อย-ปานกลางในประเทศไทย ที่มุ่งเน้นพฤติกรรมการดูแลสุขภาพกาย-ใจ ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานนับตั้งแต่ที่ผู้สูงอายุเหล่านี้ยังคงอยู่ในวัยแรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาการบริหารจัดการเชิงเศรษฐกิจและพฤติกรรมสุขภาพ อันได้แก่ ภาวะสุขภาพกาย ใจ ความจำ การคิดเชิงบริหาร และเพื่อศึกษาปัจจัย คุณลักษณะ การสนับสนุนทางสังคม ปัจจัยด้านพฤติกรรม รูปแบบการดำเนินชีวิต ที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจและสุขภาพกาย ใจ ความจำ ของผู้สูงอายุไทยที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง รวมทั้งเพื่อศึกษาบทเรียนผู้สูงอายุต้นแบบ “รายได้น้อยแต่มีสุขภาพกาย ใจ สมอง ดี” มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ (อายุ 60-70 ปี) ที่มีความสามารถในการดูแลตัวเองด้านเศรษฐกิจและมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม และกลุ่มผู้มีรายได้ก่อนอายุ 60 ปี มีรายได้ไม่เกิน 7,000 บาท/เดือน และส่วนกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง มีรายได้ไม่เกิน 11,000 บาท/เดือน (ตามการรายงานของผู้สูงอายุเอง) พื้นที่ศึกษา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม ชลบุรี และกาญจนบุรี การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงผู้สูงอายุที่เคยเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง โดยแบบคัดกรองผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย และเมื่อผู้สูงอายุผ่านการคัดเลือกจากแบบคัดกรองแล้ว  ผู้สูงอายุท่านเหล่านั้นจะได้รับการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามว่าด้วยความสามารถเชิงเศรษฐกิจ ภาวะสุขภาพกาย ใจ ปัจจัยคุณลักษณะการสนับสนุนทางสังคม พฤติกรรม และแนวทางการดำเนินชีวิต พร้อมทั้งทำการทดสอบ Wisconsin และ Stroop Test และรวบรวมข้อมูล จำนวน 422 ชุด มาทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยใช้การแจกแจงความถี่ (Frequency Distributions) และค่าร้อยละ (Percentage) สถิติสหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson’s product moment correlation coefficient) และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบลำดับชั้น (Hierarchical multiple regression analysis)

ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางในพื้นที่ศึกษา มีอายุโดยเฉลี่ย 61 – 70 ปี มีโรคประจำตัวร้อยละ 77.7 เทียบกับผู้มีโรคประจำตัวร้อยละ 22.3 ซึ่งถือว่าผู้ไม่มีโรคประจำตัวมีมากกว่า และอายุที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีโรคประจำตัวมากขึ้น และยังพบว่าระดับการศึกษาที่สูงขึ้นของผู้สูงอายุ และการที่ครอบครัวมีเงินเหลือเก็บเมื่อสิ้นเดือน มีความสัมพันธ์ทางลบกับโรคประจำตัว และยังพบว่าระดับการศึกษาของบุตร มีความสัมพันธ์กับรายได้ปัจจุบันของผู้สูงอายุ ส่วนสุขภาพใจนั้น เกินกว่าครึ่งไม่รู้สึกว่าตนหมดคุณค่า หมดหวังไม่มีความสุขและร้อยละ 79.6 ระบุว่าตนมีความเครียดน้อย ตัวแปรที่ทำให้เครียดน้อย ได้แก่ รายได้สุทธิก่อนเกษียณอายุ ระดับการศึกษาของผู้สูงอายุเอง การมีความสุขสบายตามอัตภาพ การมีเงินจับจ่ายใช้สอย ระดับการศึกษาของบุตรและรายได้เฉลี่ยครอบครัวต่อเดือน โดยตัวแปรที่มีความสัมพันธ์สูงสุด คือการที่ผู้สูงอายุมีเงินจับจ่ายใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นตามความต้องการตามอัตภาพ โดยสรุปคือการมีเงินใช้ในวันนี้มีผลต่อความสุขกายและความสุขใจ แม้ว่าผู้สูงอายุกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางกลุ่มนี้ จะไม่ได้มีทักษะทางการเงินที่ยอดเยี่ยม พวกเขายังไม่ได้มีแผนบริหารการหา-การใช้-การออมอย่างมีคุณภาพมากนัก แต่จำนวนไม่น้อยที่ออมได้และมีวินัยในการออม หลายคนโยกย้ายการออมนั้นลงไปสู่การลงทุน ในการศึกษาของบุตร โดยเชื่อว่าบุตรที่มีการศึกษาดีจะทำให้บั้นปลายชีวิตของตนดีไปด้วย ผู้สูงอายุที่มีวิธีคิดที่ประสบความสำเร็จ โดยสามารถมีเงินใช้/มีเงินออมจากช่วงวัยทำงานนั้น พบว่าเป็นกลุ่มที่มีลักษณะสำคัญๆ คือ 1) ลงทุนในการดูแลให้การศึกษาแก่บุตรหรือ 2) ลงทุนในการออม ซึ่งการวิจัยพบว่า การจัดการที่มีประสิทธิภาพใน 2 ส่วนนี้ จะทำให้ผู้สูงอายุมีเงินใช้ในบั้นปลายได้

ในประเด็นทักษะทางสมองนั้นผู้สูงอายุในการวิจัยนี้มีค่าเฉลี่ยทักษะการคิดเชิงบริหารอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยเมื่อวัดด้วย Wisconsin Card Sort Test และ Stroop Color Test ซึ่งผลที่ได้อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย เช่นนี้ เป็นผลมาจาก 2 ส่วน คือ 1.ปัจจัยส่วนบุคคล อันได้แก่ อายุและระดับการศึกษาและ 2. พฤติกรรมสุขภาพ อาทิ การออกกำลังกาย การสนับสนุนทางสังคม ซึ่งหมายความว่าปัจจัยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดการได้ ทั้งหมดตั้งแต่การสนับสนุนให้คนไทยได้มีโอกาสทางการศึกษามากที่สุด การสนับสนุนการออกกำลังกายและการสนับสนุนทางสังคมทุกรูปแบบ

ข้อเสนอแนะในการวิจัยนี้คือ การให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพตลอดชั่วชีวิต จัดเป็นกลไกที่ทรงพลังมากที่สุดในการจัดการปัญหาทุกปัญหาจากต้นทาง และต้องการการผลักดันอย่างจริงจังจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการศึกษาของผู้สูงอายุและบุตรมีผลอย่างสำคัญต่อทักษะสมอง สุขภาพกาย-ใจ และมีผลต่อการมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ตลอดจนการมีภาวะซึมเศร้าและความเครียดน้อย

 

SDGs หลักที่สอดคล้องกับกิจกรรม :
SDG3     เป้าประสงค์ย่อย :   3.d
SDGs อื่นๆที่สอดคล้อง
โปรดป้อนเลือกกลุ่ม, ชื่อและคำบรรยาย เพื่อใช้ในการแสดงผลเนื้อหาในหน้ารวมข้อมูลทั้งหมดของเมนูนี้บนเว็บไซต์ของคุณ
SDGs อื่นๆที่สอดคล้อง :
SDG17     เป้าประสงค์ย่อย :   17.14
Key Message

การตั้งเป้าหมายการทำงาน การออมเงิน การลงทุนกับบุตร กระบวนการสนับสนุนทางสังคม และการมีสุขภาพจิตที่ดีในวัยทำงาน จะกลับกลายมาเป็นสินทรัพย์เมื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ และสามารถมีความสุขได้ตามอัตภาพและตามอายุที่มากขึ้น

Links ข้อมูลเพิ่มเติม
โปรดแนบลิงค์ที่เกี่ยวข้อง (อย่างน้อย 1 link)
URL: https://www.nicfdresearch.com/