การพัฒนาแบบวัดความสามารถการบริหารจัดการของสมองขั้นสูง (ฉบับประเมินตนเอง) สำหรับวัยรุ่นไทย

ชื่อMU-SDGs Case Study:
การพัฒนาแบบวัดความสามารถการบริหารจัดการของสมองขั้นสูง (ฉบับประเมินตนเอง) สำหรับวัยรุ่นไทย
ส่วนงานหลัก:
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
ส่วนงานร่วม:
ผู้ดำเนินการหลัก:
อาจารย์ ดร. นุชนาฎ รักษี
ผู้ดำเนินการร่วม:
นางอรพินท์ เลิศอวัสดาตระกูล นางสาวกนกพร ดอนเจดีย์
คำอธิบาย:
โครงการพัฒนาแบบวัดความสามารถการบริหารจัดการของสมองขั้นสูงสำหรับวัยรุ่นไทย (ฉบับประเมินตนเอง) เพื่อพัฒนาแบบวัด EF สำหรับวัยรุ่นของประเทศไทย ตรวจสอบคุณภาพ และสร้างเกณฑ์ปกติวิสัย เพื่อเป็นเครื่องมือมาตรฐานในการประเมินตนเองที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

โครงการวิจัยการพัฒนาแบบวัดความสามารถการบริหารจัดกาของสมองขั้นสูงสำหรับวัยรุ่นไทย (ฉบับประเมินตนเอง) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบวัดการบริหารจัดการของสมอง ขั้นสูงสำหรับวัยรุ่นของประเทศไทย ตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้างของแบบวัดความสามารถการบริหารจัดการของสมองขั้นสูง (ฉบับประเมินตนเอง) สำหรับวัยรุ่นไทยและสร้างเกณฑ์ปกติวิสัย เพื่อเป็นเครื่องมือมาตรฐานใช้ในการประเมินตนเองที่มีข้อคำถามที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ตลอดจนเป็นแบบสอบถามที่สามารถนำไปใช้ได้ง่ายมีความเที่ยงตรงและมีคุณภาพ  เป็นเครื่องมือในการสำรวจสถานการณ์ความสามารถการบริหารจัดการของสมองขั้นสูงของวัยรุ่นไทย ทำให้ค้นพบปัญหาของเด็กแต่เนิ่น ๆ

ทักษะ EF พัฒนาสูงสุดช่วงปฐมวัยและทอดยาวจนถึงวัยรุ่น และเจริญเติบโตเต็มเมื่ออายุ 25 ปี ดังนั้นการประเมินทักษะ EF ในวัยรุ่นในช่วงที่ทักษะ EF กำลังพัฒนาจึงมีความสำคัญมาก และยังไม่มีแบบวัดทักษะ EF เกณฑ์มาตรฐานวัยรุ่นไทย จึงได้ทำวิจัยเพื่อพัฒนาแบบประเมินทักษะสมองขั้นสูงการคิดเชิงบริหาร (EF) สำหรับวัยรุ่นไทย ฉบับประเมินตนเอง ในเด็กช่วงอายุระหว่าง 11-18 ปี (Mahidol University Executive Function Inventory-Adolescent : MU.EF-A) ที่ประกอบด้วยข้อคำถามพฤติกรรม จำนวน 42 ข้อ ทั้ง 8 องค์ประกอบทักษะ EF ของวัยรุ่น ได้แก่ การหยุด ยับยั้งชั่งใจ (Inhibitory Control), การติดตามประเมินผลด้วยตนเอง (Self-Monitor), การเปลี่ยน/ความยืดหยุ่นในการคิด (Shift /Cognitive Flexibility), การควบคุมอารมณ์ (Emotional control), ความจำขณะทำงาน (Working Memory), การวางแผนจัดการ (Plan/Organize), ด้านการทำงานจนสำเร็จ (Task completion), ด้านการจัดการวัสดุ/สิ่งของของตัวเองให้เรียบร้อย (Organization of materials) ที่เด็กใช้ในการประเมินตนเอง และมีการตรวจสอบคุณภาพของแบบวัด โดยวัดทั้งความเที่ยงตรงตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ หาค่าอำนาจจำแนก ความเชื่อมั่น และตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้าง เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการใช้แบบประเมินในสถานการณ์การระบาดโควิด 19 จึงได้พัฒนาระบบการประเมินและการเก็บรวบรวมสถานการณ์ทักษะ EF วัยรุ่นไทย ผ่านเว็บไซต์  www.MUEF-teenager.com  ผลการวิจัย พบว่า แบบประเมินทักษะสมองขั้นสูงการคิดเชิงบริหาร (EF) สำหรับวัยรุ่นไทย ฉบับประเมินตนเอง ในเด็กช่วงอายุระหว่าง 11-18 ปี (Mahidol University Executive Function Inventory-Adolescent : MU.EF-A) ที่ประกอบด้วยข้อคำถามพฤติกรรม จำนวน 42 ข้อ ประกอบด้วย 8 ด้าน คือการหยุด ยับยั้งชั่งใจ (Inhibitory Control), การติดตามประเมินผลด้วยตนเอง (Self-Monitor), การเปลี่ยน/ความยืดหยุ่นในการคิด (Shift /Cognitive Flexibility), การควบคุมอารมณ์ (Emotional control), ความจำขณะทำงาน (Working Memory), การวางแผนจัดการ (Plan/Organize), ด้านการทำงานจนสำเร็จ (Task completion), ด้านการจัดการวัสดุ/สิ่งของของตัวเองให้เรียบร้อย (Organization of materials) มีค่าความเชื่อมั่นคอนบราคแอลฟา ทั้งฉบับมีค่าเท่ากับ 0.933 รายด้าน มีค่าความเชื่อมั่นอยู่ระหว่าง 0.703-0.855 ซึ่งอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับสองของโมเดลแบบประเมินทักษะสมองขั้นสูงการคิดเชิงบริหาร (EF) สำหรับวัยรุ่นไทย ฉบับประเมินตนเอง ในเด็กช่วงอายุระหว่าง 11-18 ปี พบว่า มีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (χ2 =1,299.93  , df = 754, p = 0.071, RMSEA = 0.044, GFI = 0.99, AGFI = 0.99) องค์ประกอบทั้ง 8 องค์ประกอบ มีค่าน้ำหนักอยู่ระหว่าง 0.56-0.97 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ 0.01 นอกจากได้แบบประเมินแล้วยังทำให้ทราบสถานการณ์ EF วัยรุ่นไทยในภาพรวมประเทศทั้ง 5 ภูมิภาคของวัยรุ่น จำนวน 2,400 คน พบว่า คะแนนเฉลี่ยทักษะ EF ภาพรวมเด็กวัยรุ่นไทยทั้งประเทศส่วนใหญ่ อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยระดับปานกลาง ร้อยละ 45.17, รองลงมา คือ ระดับดี ร้อยละ 23.13, ระดับควรพัฒนา ร้อยละ 22.67, ระดับดีมาก ร้อยละ 5.54, และระดับควรปรับปรุง ร้อยละ 3.50 ซึ่งพบว่าทักษะ EF วัยรุ่นไทยในภาพรวมอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยที่ควรพัฒนาและปรับปรุงที่ร้อยละ 26.17  เมื่อพิจารณาจำแนกตามกลุ่มอายุ และเพศ ในกลุ่มเด็กที่มีคะแนนทักษะ EF ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยนั้น พบว่า ในช่วงอายุ 11-13 ปี มีคะแนนทักษะ EF ในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ร้อยละ 27.11 ในเด็กผู้ชาย และร้อยละ 21.90 ในเด็กผู้หญิง ส่วนในกลุ่มช่วงอายุ 14-18 ปี มีคะแนนทักษะ EF ในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ร้อยละ 26.58 ในเด็กผู้ชาย และร้อยละ 27.35 ในเด็กผู้หญิงตามลำดับ ผลทักษะ EF รายด้านพบว่า ด้านที่มีคะแนนทักษะ EF ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมากที่สุดคือความสามารถการทำงานจนสำเร็จ ร้อยละ 35.21, รองมาคือด้านการควบคุมอารมณ์ร้อยละ 34.54 และด้านการหยุด ยับยั้งพฤติกรรม ร้อยละ 34.08  และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเด็กที่อยู่ในโรงเรียนในเขตเมืองและนอกเมืองพบว่า คะแนนเฉลี่ยทักษะ EF ในภาพรวม และรายด้านทั้ง 8 ด้าน ของเด็กที่เรียนในโรงเรียนเขตเมือง มากกว่าโรงเรียนนอกเขตเมือง โดยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 สิ่งที่สำคัญของการประเมินทำให้เราทราบสถานการณ์ทักษะสมอง EF เด็กไทย ทำให้เราทราบจุดเด่นและความบกพร่องของทักษะ EF ของเด็กแต่เนิ่น ๆ เพื่อฟื้นฟูส่งเสริมได้ตรงจุด ทันท่วงที และนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความพร้อมให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ ที่ปรับตัวได้ แก้ปัญหาเป็น และประสบความสำเร็จในการเรียนการทำงาน และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

SDGs หลักที่สอดคล้องกับกิจกรรม :
SDG4 เป้าประสงค์ย่อย :   4.7