โครงการวิจัยเพื่อสร้างแบบประเมินสติสำหรับเด็ก

ชื่อMU-SDGs Case Study:
โครงการวิจัยเพื่อสร้างแบบประเมินสติสำหรับเด็ก
ส่วนงานหลัก:
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
ส่วนงานร่วม:
ผู้ดำเนินการหลัก:
อ.ดร.ธีรตา ขำนอง
ผู้ดำเนินการร่วม:
โครงการอบรมอานาปาสติสำหรับชาวต่างชาติ สวนโมกข์นานาชาติ
คำอธิบาย:
พัฒนาแบบประเมินสติสำหรับเด็กพร้อมคู่มือการใช้สำหรับครูและผู้เกี่ยวข้อง นำไปใช้คัดกรองประเมินการมีสติในเด็ก และนำข้อมูลที่ได้ไปวางแผนกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาสติในเด็กปฐมวัยได้มีประสิทธิภาพ

การพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างสมดุลรอบด้าน  ทั้งการพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา  เป็นสิ่งที่ครู  ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก รวมไปถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง  ได้พยายามที่จะส่งเสริม กระตุ้นพัฒนาเด็กอย่างเต็มที่    โดยเฉพาะในมิติของการพัฒนาทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณ  เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีคุณธรรม จริยธรรม  เติบใหญ่เป็นคนดี ด้วยการอบรมสั่งสอน ประพฤติเป็นแบบอย่าง หรือแม้แต่การจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมต่างๆ  แม้ว่าเราจะมีโครงการกิจกรรมต่างๆ ในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม   ก็ยังเห็นได้ว่าตัวเลขเด็กกระทำความผิดยังมีจำนวนมากขึ้น  และช่วงวัยก็ยิ่งลดอายุน้อยลง และเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีมากขึ้น    ดังจะเห็นได้จากข้อมูลสถิติคดีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจ ในปี พ.ศ. 2556 และ 2561 แสดงให้เห็นแนวโน้มว่า  เด็กที่กระทำผิดมีอายุน้อยลงซึ่งเกี่ยวข้องกับการยับยั้งชั่งใจจิตใจของเด็กที่มีน้อยลง  การควบคุมอารมณ์ จิตใจ ที่มีไม่มากพอ  จนให้กระทำผิดในที่สุด   สิ่งที่จะควบคุมการกระทำได้  คือผู้นั้นจะต้องการรู้ตัว  ทันในความคิด ความรู้สึกและอารมณ์ของตนเอง  สามารถที่จะควบคุมจิตใจที่จะแสดงออกทางพฤติกรรมได้  นั่นก็คือ การมี “สติ”

การประเมินระดับของการมีสติในเด็กและวัยรุ่นจะมีส่วนสำคัญในการที่จะช่วยบ่งบอกได้ว่าเด็กมีระดับของการมีสติมากน้อยเพียงใด  รวมทั้งเมื่อจัดกิจกรรมการฝึกสติไปแล้วเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผล และเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กอย่างไร   ซึ่งจะช่วยในการวางแผนการพัฒนาเด็กได้ต่อไปในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

แบบประเมินสติที่พบทั้งในไทยและต่างประเทศ  จะเป็นแบบประเมินสติสำหรับเด็กวัยตั้งแต่วัยรุ่นถึงผู้ใหญ่   ซึ่งเป็นแบบประเมินสติด้วยตนเอง (self assessment)  ในขณะที่แบบประเมินสติสำหรับเด็กต่ำกว่า 6 ปี ลงมา ยังไม่มีปรากฏชัดเจน มีเพียงแบบสังเกตเด็กเพื่อวัดการมีสติ (Child Observation of Mindfulness Measure (C-OMM) ที่วัดในเด็กอายุ 3-4 ปี (Matthew E. Lemberger-Truelove and others, 2019)  การสร้างและพัฒนาแบบประเมินสติสำหรับเด็กที่ผู้วิจัยกำลังจะสร้างและพัฒนาขึ้น  จีงเป็นเครื่องมือการคัดกรองและประเมินที่สำคัญที่จะช่วยให้ส่งเสริมและพัฒนาการมีสติสำหรับเด็กได้ดียิ่งขึ้น

ทางโครงการจึงสนใจที่จะศึกษาเพื่อสร้างและพัฒนาแบบประเมินสติในเด็กที่มีประสิทธิภาพสำหรับครู และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาเด็ก  ที่สามารถนำไปใช้ได้ในการ ประเมินระดับการมีสติสำหรับเป็นฐานในการเฝ้าระวัง ส่งเสริมให้เด็กมีสติระลึกรู้  ซึ่งครูจะได้ส่งเสริมพัฒนาสติของเด็กได้  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข  สามารถกำกับตนเองในการเรียนรู้ และพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น   ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ มีจุดเน้นการพัฒนาคนที่สำคัญเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย คือ การพัฒนากลุ่มเด็กปฐมวัยให้มีสุขภาพกายและใจที่ดี มีทักษะทางสมอง ทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิตและทักษะทางสังคม เพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ    ดังนั้น การพัฒนาและส่งเสริมการมีสติ  ด้วยการพัฒนาแบบประเมินการมีสติสำหรับเด็ก  จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยประเมิน  ค้นหา แก้ไข ช่วยเหลือ ส่งเสริมเด็กให้มีระดับสติที่ดีขึ้น  อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาตนเอง  พัฒนาสติปัญญา  พัฒนาทักษะทางสังคมให้ดียิ่งขึ้น

SDGs หลักที่สอดคล้องกับกิจกรรม :
SDG4     เป้าประสงค์ย่อย :  เป้าประสงค์ย่อย :   4.7